แนวทางในการจัดทำผลงานทางวิชาการ
(รวบรวมโดย… เจริญ บางเสน ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคใต้)
เมื่อพิจารณาความหมายของผลงานงานวิชาการจาก คู่มือการประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยาฐานะ ของ ก.ค.ศ. จะเห็นว่า ถ้าเป็นผลงานทางวิชาการของครู ก็จะหมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่แสดงถึงความชำนาญการหรือเชี่ยวชาญในการสอน ถ้าเป็นผลงานทางวิชาการของศึกษานิเทศก์ ก็จะหมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่แสดงถึงความเชี่ยวชาญในการนิเทศการศึกษา และถ้าเป็นผลงานทางวิชาการการของผู้บริหารสถานศึกษา ก็จะหมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่แสดงถึงความชำนาญการหรือเชี่ยวชาญในการบริหารสถานศึกษา หรือ ผลงานทางวิชาการ คือ เอกสารหรือหลักฐาน ใด ๆ ที่สร้างขึ้นจากการศึกษา ค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง วิเคราะห์หรือสังเคราะห์ ซึ่งแสดงถึงความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญในการสอน หรือการนิเทศหรือการบริหารสถานศึกษาของผู้จัดทำผลงาน และได้นำไปใช้ในการพัฒนางานในหน้าที่
ผลงานทางวิชาการของครู
เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความชำนาญ และนิยามของผลงานทางวิชาการของครูแล้ว จะเห็นว่าผลงานทางวิชาการจะต้องมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติดังนี้
- ตรงกับสาขาวิชาที่ขอเลื่อนวิทยฐานะ ตามแบบคำขอ หัวข้อรายงาน ความชำนาญการ/เชี่ยวชาญในการสอนวิชานั้น ๆ
- ตรงกับวิชาที่สอน
- จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน
- เป็นผลงานทางวิชาการตามลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
- เป็นผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านการสอน
ข้าราชการครูสายงานสอนจะมีผลงานทางวิชาการในลักษณะต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ควรจะมีคุณสมบัติตามที่กล่าวแล้ว อาจจะเป็นเอกสารประกอบการสอน แผนการสอน เอกสารคำสอน หนังสือเรียน ตำรา หนังสืออ่านประกอบ งานแปล บทความทางวิชาการหรืองานวิจัย ซึ่งจะได้เสนอรูปแบบเป็นแนวเพื่อพิจารณาจัดทำในตอนต่อไป
โดยสรุปแล้วผลงานทางวิชาการ คือ หลักฐานใด ๆ ที่ข้าราชการครูผู้นั้นได้จัดทำขึ้นและได้ใช้ในการพัฒนางานในหน้าที่ของตนเอง