วันอังคาร, 28 มีนาคม 2566

ความหมายของการวิจัย

26 ก.ค. 2021
1051

ความหมายของการวิจัย

                การวิจัย  หมายถึง  การศึกษาค้นคว้าหาความจริงอย่างจริงจังด้วยระบบและวิธีการอันถูกต้อง  เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ในสิ่งที่วิจัยนั้น (จุมพล  สวัสดิยากร, 2520)

                การวิจัย  หมายถึง  การค้นคว้าหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา (ราชบัณฑิตยสถาน , 2531) การวิจัยเป็นเรื่องของการศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์หาคำตอบหรือหาข้อเท็จจริงอะไรบางอย่าง (เทียนฉาย  กีระนันทน์ , 2537)

                การวิจัย  หมายถึง  กระบวนการค้นคว้าหาความรู้อย่างมีระบบ  เพื่อตอบประเด็นที่สงสัย  โดยมีระเบียบวิธีอันเป็นที่ยอมรับในศาสตร์แต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (คณะทำงานยกร่างจรรยาบรรณนักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ , 2540)

การวิจัย

                การวิจัย (Research) เกิดจากการรวมคำ 2 คำ คือคำว่า RE + SEARCH (RE แปลว่าซ้ำ , SEARCH แปลว่า ค้น)  Research แปลว่า ค้นคว้าซ้ำแล้วซ้ำอีก

                ปีคศ.1961  ณ สหรัฐอเมริกาที่ประชุม Pan Pacific Science  Congress  โดยนักจิตวิทยาด้านการวิจัยได้ออกแบบแนวคิดอธิบายคำว่า “ Research” โดยแยกเป็นอักษรอธิบายความหมายไว้ดังนี้

                R =  ecruitment & Relationship  หมายถึง  การฝึกตนให้มีความรู้ รวมทั้งรวบรวมผู้ที่มีความรู้เพื่อปฏิบัติงานรวมกันติดต่อสัมพันธ์และประสานงานกัน

                E =  Edicatopmg & Efficency  หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องมีการศึกษามีความรู้และสมรรถภาพสูงในการวิจัย

                S  =   Science  &  Stimulation  หมายถึง  เป็นศาสตร์ที่ต้องมีการพิสูจน์ค้นคว้า  เพื่อหาความจริงและผู้วิจัยต้องมีความคิดริเริ่มกระตือรือร้นที่จะทำวิจัย

                E  =  Evaluation  &  Enviroment  หมายถึงรู้จักประเมินผลว่ามีประโยชน์สมควรจะทำต่อไปหรือไม่และต้องรู้จักใช้เครื่องมือต่างๆในการวิจัย

                A  =  Aim  &  Attitude  หมายถึง  มีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่แน่นอนและมีทัศนคติที่ดีต่อการติดตามผลการวิจัย

                R  =  Result  หมายถึง การวิจัยได้มาผลเป็นอย่างไรก็ตามจะต้องยอมรับผลทางวิจัยนั้นอย่างดุษฎี และเป็นผลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ

                C  =  Cruiosity  หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องมีความอยากรู้อยากเห็นมีความสนใจและขวนขวายในการวิจัยอยู่ตลอดเวลา

                H  =  Horizon  หมายถึง  เมื่อผลการวิจัยปรากฏออกมาแล้วย่อมทำให้ทราบและเข้าใจในปัญหาเหล่านั้นได้  เหมือนกับการเกิดแสงสว่างขึ้น  แต่ถ้ายังไม่เกิดแสงสว่างผู้วิจัยต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะพบแสงสว่าง  ในทางสังคมแสงสว่าง หมายถึงผลการวิจัยก่อให้เกิดสุขแก่สังคม (อารมณ์ สนานภู่ : 2545)

Best  and  kahn  ให้ความหมายไว้ดังนี้

                การวิจัย  หมายถึง  การวิเคราะห์ที่มีระบบ  ระเบียบ และจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อสรุปที่เป็นนัยทั่วไป  หรือได้มาซึ่งหลักเกณฑ์หรือทฤษฎีอันสามารถนำไปใช้ในการพยากรณ์ได้และมีคุณลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1.การวิจัยจะต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้าย (Ultimate  goal) กล่าวคือการค้นพบความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลระหว่างตัวแปร (Variable) ต่าง ๆ

2.การวิจัยควรเน้นการพัฒนาข้อสรุปที่เป็นนัยทั่วไป (Generalization) หลักการ (Principle) หรือทฤษฎี (Theory) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3. การวิจัยต้องอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ที่สามารถสังเกตได้ (Observable experience) หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical  evidence) ซึ่งในหลายกรณีจะเห็นว่ามีคำถามที่น่าสนใจหลายประการที่ไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการทำวิจัยได้ เพราะไม่สามารถสังเกตได้

4. การวิจัยต้องมีการสังเกตที่ถูกต้อง (Accurate  observation) และพรรณาความได้นักวิจัยอาจเลือกวิธีการวัดและเครื่องมือทางด้านปริมาณ  หากมีความเหมาะสมในการหาคำตอบได้  นักวิจัยก็จะต้องใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative  research) หรือวิธีการที่ไม่ใช่เชิงปริมาณ (Non  qualitative  method) แทน

5. การวิจัยเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลใหม่  ซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือข้อมูลที่ใช้เป็นครั้งแรก  หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นการใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วสำหรับวัตถุประสงค์ใหม่  ในทางตรงข้ามการจัดการใหม่ (Reorganizing) หรือการนำเอาผลงานของผู้ทำวิจัยไว้แล้วมาศึกษาใหม่ (Restating) ไม่ถือว่าเป็นการทำวิจัย  เพราะการศึกษาดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมา

6. การวิจัยมีวิธีการหรือแบบการวิจัย (Research procedure or research design) ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์ที่เข้มแข็งและถือได้ว่าเป็นการวิจัย

7. การทำวิจัยต้องการความรู้  ความชำนาญ  หรือความเชี่ยวชาญ (Expertise) ดังนั้น ผู้ทำวิจัยจะต้องรู้และเข้าใจปัญหา (Problem) ที่จะทำพร้อมกับต้องรู้ด้วยว่าคนอื่นได้ทำวิจัยอะไรไว้บ้างและอย่างไรผู้ทำวิจัยจะต้องรู้ถ้อยคำที่ใช้ (terminology) แนวคิด (Concept) และทักษะด้านเทคนิค (technical skill) เพื่อที่จะเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้อย่างถูกต้อง

8. การวิจัยต้องมีวัตถุประสงค์และเหตุผลถูกต้องตามหลักตรรกวิทยา  ดังนั้น ผู้ที่จะทำการวิจัยจึงควรใช้เครื่องทดสอบทุกอันที่เป็นไปได้เพื่อทำให้วิธี การศึกษา (Procedure) ที่ใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา หรือแม้แต่ข้อสรุปของงานวิจัยที่ค้นพบมีเหตุผลและนักวิจัยต้องพยายามขจัดอคติส่วนตัว (bias) หรือไม่ใช้อารมณ์ในการวิเคราะห์หากแต่ใช้เหตุผลและความรู้ทางวิชาการในการทำวิจัย

9. งานวิจัยที่จะทำจะต้องเกี่ยวข้องกับคำถามที่ต้องการคำตอบของปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้

10. การทำวิจัยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทน  นักวิจัยควรคาดการณ์ไว้ก่อนถึงความผิดหวังหรือความหมดกำลังใจ  หากถึงตอนที่จะหาคำตอบสำหรับคำถามที่ตั้งขึ้นได้อย่างยากลำบาก

11. การทำวิจัยจะต้องมีการบันทึกและรายงานอย่างระมัดระวัง โดยจะต้องให้คำนิยาม (definition) คำศัพท์สำคัญ (key  work) และจะต้องตระหนักถึงข้อจำกัด (limitation) ต่างๆด้วยวิธีการศึกษาจะต้องกล่าวโดยละเอียดนอกจากนี้การอ้างอิง (reference) ก็ต้องกระทำอย่างระมัดระวังผลการวิจัยจะต้องมีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนและจะต้องเสนอข้อสรุป (Conclusion) ด้วยความระมัดระวัง

12.การทำวิจัยบางครั้งต้องการกำลังใจหรือการสนับสนุน ไม่ว่างานวิจัยนั้นจะมีผลเกื้อกูลหรือขัดทางต่อกลุ่มคนใดก็ตาม

ประเภทการวิจัย

 การแบ่งประเภทของการวิจัย  มีหลากหลายแบบขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่จะใช้ในการแบ่ง  ต่อไปนี้ขอกล่าวถึงประเภทของการวิจัยที่ใช้เกณฑ์ต่าง ๆกันดังนี้

1. แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย  แบ่งออกเป็น  3  ประเภท

1.การวิจัยเชิงพยากรณ์ (Predictive  research)  เป็นการวิจัยเพื่อนำผลไปใช้ทำนายสิ่งที่จะเกิดในอนาคตซึ่งอาจพยากรณ์ได้ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะอาจมีสาเหตุอื่นทำให้เกิดคลาดเคลื่อนได้

2. การวิจัยเชิงวินิจฉัย (Diagnostic  research)  เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาสาเหตุของปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นกับบุคคล  กลุ่มชน  หรือชุมชน  เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหารู้ถึงพฤติกรรม  จะได้ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขต่อไปการวิจัยประเภทนี้  นักสังคมสงเคราะห์นิยมใช้กันมาก

3. การวิจัยเชิงอรรถาธิบาย (Explanatory  research)  เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วว่าเกิดขึ้นอย่างไร  มีสาเหตุมาจากอะไรและทำไมจึงเป็นเช่นนั้นในเชิงเหตุและผล

2.  แบ่งตามประโยชน์ของการวิจัย  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

                1. การวิจัยพื้นฐาน (Basic  research) หรือการวิจัยบริสุทธิ์ (Pure  research) หรือการวิจัยเชิงทฤษฎี (Theoretical  research) เป็นการวิจัยที่เสาะแสวงหาความรู้ใหม่  เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีเพิ่มพูนความรู้ต่าง ๆ ที่มีความลึกซึ้งและสลับซับซ้อน  ได้แก่ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

                2. การวิจัยประยุกต์ (Applied  research)   หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติ (Applied  research) หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action  research) หรือการวิจัยเพื่อหาแนวทางปฏิบัติ (Operational  research) เป็นการวิจัยที่มุ่งเสาะแสวงหาความรู้และประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติ  หรือนำผลวิจัยไปแก้ไขปัญหาโดยตรงการวิจัยประเภทนี้อาจนำผลการวิจัยพื้นฐานมาวิจัยต่อแล้วทดลองใช้ เช่น  การวิจัยเกี่ยวกับอาหาร  ยารักษาโรค  การเกษตร  และการเรียนการสอน  ดังนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะแยกการวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์ออกจากกันได้ โดยเด็ดขาด

3.  แบ่งตามวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล  แบ่งออกเป็น 7 ประเภท  ดังนี้

                1.  การวิจัยจากเอกสาร (Documentary  research) เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร  รายงาน  จดหมายเหตุ  ศิลาจารึก  แล้วเสนอผลในเชิงวิเคราะห์  ส่วนใหญ่เอกสารที่ผู้วิจัยเก็บรวบรวมนี้จะอยู่ในห้องสมุด  ดังนั้นจึงอาจเรียกการวิจัยประเภทนี้อีกอย่างหนึ่งว่า  การวิจัยจากห้องสมุด(Library  research)

                2.  การวิจัยจากการสังเกต  (Observation  research)   เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสังเกต  การวิจัยประเภทนี้นิยมใช้มากทางด้านมานุษยวิทยา  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสังเกตุพฤติกรรมของบุคคลในสังคมในแง่ของสถานภาพ (Status) และบทบาท (Role)

                3.  การวิจัยแบบสำมะโน (Census  research)  เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกๆหน่วยของประชาการ

                4. การวิจัยแบบสำรวจจากตัวอย่าง (Sample  survey  research) เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง

                5.  การศึกษาเฉพาะกรณี (Case  study) การศึกษาเฉพาะกรณีเป็นการวิจัยที่นักสังคมสงเคราะห์นิยมใช้มาก  ที่เรียกว่าการศึกษาเฉพาะกรณีก็เพราะเป็นการศึกษาเรื่องที่สนใจในขอบเขตจำกัดหรือแคบ ๆและใช้จำนวนตัวอย่างไม่มากนัก  แต่จะศึกษาอย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่จะทำให้ทราบว่าบุคคลนั้นหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีความบกพร่องในเรื่องใด  เนื่องมาจากสาเหตุใดเพื่อจะได้หาทางแก้ไขหรือช่วยเหลือต่อไป

                6.  การศึกษาแบบต่อเนื่อง (panel  study)  เป็นการศึกษาที่มีการเก็บข้อมูลเป็นระยะ ๆ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาของกลุ่มตัวอย่าง  ซึ่งการศึกษาแบบต่อเนื่องนี้จะช่วยให้เข้าใจและทราบถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

                7.  การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental  research) เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยเก็บข้อมูลมาจากการทดลองซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำ (Treatment) โดยมีการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ 

4.  แบ่งตามลักษณะการวิเคราะห์ข้อมูล  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

                1.  การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative  research) เป็นการวิจัยที่นำเอาข้อมูลทางด้านคุณภาพเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลขแต่จะเป็นข้อความบรรยายลักษณะสภาพเหตุการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและการเสนอผลการวิจัยก็จะออกมาในรูปของข้อความที่ไม่มีตัวเลขทางสถิติสนับสนุนเช่นเดียวกัน  การวิจัยประเภทนี้จึงมุ่งบรรยายหรืออธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆโดยอาศัยความคิดวิเคราะห์  เพื่อประเมินผลหรือสรุปผลนั่นเอง

                2.  การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative  research)  เป็นการวิจัยที่นำเอาข้อมูลเชิงปริมาณมาวิเคราะห์กล่าวคือใช้ตัวเลขประกอบการวิเคราะห์  สรุปผล  และการเสนอผลการวิจัยก็ออกมาเป็นตัวเลขเช่นเดียวกัน ดังนั้น  การวิจัยประเภทนี้จึงมุ่งที่จะอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ  โดยอาศัยตัวเลขยืนยันแสดงปริมาณมากน้อยแทนที่จะใช้ข้อความบรรยายให้เหตุผล

อนึ่งการวิจัยที่ดีนั้นไม่ควรใช้แบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ  เพราะจะทำให้ผลที่ได้ไม่แจ่มชัดเท่าที่ควร  ดังนั้นในการปฏิบัติมักจะประยุกต์การวิจัยทั้ง 2 ประเภทนี้เข้าด้วยกันเพื่อให้ผลการิวจัยมีทั้งเหตุและผลและมีตัวเลขสนับสนุนอันจะทำให้ผลการวิจัยน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

5.  แบ่งตามลักษณะวิชาหรือศาสตร์  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท  ดังนี้

                1.  การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Scientific  research) เป็นการวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต  ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นการวิจัยประเภทนี้ได้กระทำกันมานานแล้ว  และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อย่างมากมายเช่น   การค้นพบยา  รักษาโรค  การค้นพบสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เป็นต้น  นอกจากนี้การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังสามารถใช้แก้ปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติได้อีกด้วย  เนื่องจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เที่ยงตรงและมีกฎเกณฑ์แน่นอน  ตลอดจนสามารถควบคุมการทดลองได้เพราะทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ  จึงทำให้ผลการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ได้รับความเชื่อถือมาก

                2.  วิจัยทางสังคมศาสตร์  (Social  research)  เป็นการวิจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม  สังคม  วัฒนธรรมและพฤติกรรมของมนุษย์  เช่น  การวิจัยด้านปรัชญา  สังคมวิทยาศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  เป็นต้น

การวิจัยทางสังคมศาสตร์นี้แตกต่างกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาก  เนื่องจากสังคมศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยสังคม  สิ่งแวดล้อม  และพฤติกรรมของมนุษย์  ซึ่งวัดไม่ได้โดยตรงและควบคุมได้ยาก  แต่มนุษย์ก็ได้พยายามวัดโดยใช้เครื่องมือวัดทางอ้อม  เช่น  ใช้แบบทดสอบ  แบบสอบถาม  แบบวัดเจตคติ ฯลฯ และได้นำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในกาวิจัยทำให้ผลการวิจัยเป็นที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น  แม้ว่าการวิจัยทางสังคมศาสตร์จะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการก็ตาม  แต่การวิจัยทางด้านนี้ก็สามารถศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ได้มากพอสมควร

6.  แบ่งตามระเบียบวิธีวิจัย  แบ่งออกเป็น  3  ประเภท  ดังนี้

                1.  การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical  research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วในอดีต  โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะบันทึกอดีตอย่างมีระบบ  และมีความเป็นปรนัยจากการรวบรวมประเมินผล  ตรวจสอบ  และวิเคราะห์เหตุการณ์เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงในอันที่จะนำมาสรุปอย่างมีเหตุผล  การวิจัยประเภทนี้ต้องอ้างอิงเอกสารและวัตถุโบราณที่มีเหลืออยู่  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่ใช้สถิติ  สรุปได้ว่าการวิจัยประเภทนี้มุ่งที่จะบอกว่า “เป็นอะไรในอดีต” (What was)

                2.  การวิจัยเชิงบรรยายหรือพรรณนา (Descriptive  research)  เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงในสภาพการณ์หรือภาวการณ์ของสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร  การวิจัยประเภทนี้มักจะทำการสำรวจหรือหาความสัมพันธ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อ  ความคิดเห็น  และเจตคติจึงกล่าวได้ว่าเป็นการวิจัยที่มุ่งจะบอกว่า  เป็นอะไรในปัจจุบัน (What  is) นั่นเองเช่น  การวิจัยเรื่อง “เจตคติของครูน้อยที่มีต่อผู้บริหารการศึกษา”

                3.  การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental  research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของปรากฏการณ์ต่าง ๆ การวิจัยประเภทนี้ต้องมีการควบคุมตัวแปรต้น  เพื่อสังเกตตัวแปรตามที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อจะได้ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผล  ดังนั้นตัวแปรในการวิจัยจึงต้องมีทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง  สรุปได้ว่า  การวิจัยประเภทนี้มุ่งที่จะบอกว่า “อะไรอาจจะเกิดขึ้น” (What may be) (รศ.นิภา  ศรีไพโรจน์)

ประโยชน์ของการวิจัย

1.  ได้ความรู้ใหม่  ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ

2. พิสูจน์หรือตรวจสอบความถูกต้องของกฎเกณฑ์  หลักการและทฤษฎีต่าง ๆ

3. ทำให้เข้าใจสถานการณ์ ปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ

4. พยากรณ์ผลภายหน้าของสถานการณ์  ปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

5. แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

6. ช่วยในการวินิจฉัย  ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม

7. นำมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

8. ปรับปรุงและพัฒนาสภาพความเป็นอยู่และวิธีดำรงชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

9. กระตุ้นบุคคลให้มีเหตุผล  รู้จักคิดและค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ

ปัจจุบันการวิจัย  เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ของปัญหาต่าง ๆที่มนุษย์ไม่รู้และต้องการแสวงหาคำตอบ  การวิจัยทำให้มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ของโลกและของจักรวาลทำให้มนุษย์มีการพัฒนา  เจริญก้าวหน้า  รุ่งเรือง ไม่มีที่สิ้นสุด

การวิจัยถือเป็นกิจกรรมพัฒนาปัญญาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่มนุษย์  เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาวิถีการดำรงชีวิตทั้งในด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  และวัฒนธรรม  ผลการวิจัยของประเทศไทยที่ผ่านมา  ช่วยทาให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในทางปัญญาไปได้ในระดับหนึ่ง และควรสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการตัดสินใจในการบริหารและการจัดการภายใต้ผลการวิจัย  ก็อาจจะช่วยให้ประเทศไทยมีการพัฒนา

ให้คะแนนบทความนี้
[รวม: 0 เฉลี่ย: 0]