การศึกษาตลอดชีวิต คืออะไร หมายถึงอะไร ?
การศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จาก ประสบการณ์ จากการทํางาน บุคคล ครอบครัว สื่อ ชุมชน แหล่งความรู้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สําคัญคือ ไม่มี หลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จํากัดอายุ เพศ วัย ฯลฯ
เป้าหมายของการจัดและการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต
1) ให้บุคคลได้รับความรู้ และทักษะพื้นฐานที่เป็น เครื่องมือในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองที่สอดคล้อง กับความสนใจและความจำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิต
2) ให้บุคคลสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มีนิสัย รักการอ่าน ใฝ่เรียนรู้ และมีความพร้อมในการดำเนินชีวิต อย่างผสมกลมกลืนกับสังคมที่ต้องใช้ความรู้อย่างรอบด้าน
3) ให้บุคคลและชุมชนเกิดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่ง การสร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืน
หลักการจัดและการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ให้ดำเนินการโดยไม่จำกัดเพศ อายุ พื้นฐานการศึกษา อาชีพ และความสนใจของบุคคล ดังต่อไปนี้
1) สนองความต้องการการเรียนรู้ของบุคคลและชุมชน
2) พัฒนาและส่งเสริมความรู้ทั่วไป การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาทักษะชีวิตของประชาชน
3) แก้ปัญหาและชดเชยโอกาสทางการศึกษา ของประชาชน
4) ใช้กระบวนการทางการศึกษาเป็นวิธีการใน การพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศ
การจัดการศึกษาตลอดชีวิตให้จัดใน สถานศึกษา สถานที่ของภาคีเครือข่าย การศึกษาตลอดชีวิต หรือแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ การจัดการศึกษาตลอดชีวิตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแผนการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตแห่งชาติ
เพื่อประโยชน์ในการจัด การศึกษาตลอดชีวิต ต้องคำนึงถึง
1) ความเป็นเอกภาพด้านนโยบาย และความหลากหลายในการปฏิบัติ
2) การศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความถนัด และความสนใจของบุคคล
3) การมีส่วนร่วมของบุคคล ชุมชน สังคม และสถานประกอบการในการเสนอแนะกรอบนโยบาย เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สามารถทำงาน รวมทั้งเสนอแนะการกำหนดมาตรฐานการศึกษา
4) การศึกษาที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และมีระบบเทียบโอนผลการเรียน เทียบโอนความรู้ และประสบการณ์ของบุคคลเพื่อประโยชน์ในการเข้ารับ การศึกษาและการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง
การส่งเสริมและสนับสนุน การศึกษาตลอดชีวิต ให้ดำเนินการเพื่อเป้าหมาย ในเรื่องดังต่อไปนี้
1) ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพ กำลังคนและสังคม ที่ใช้ความรู้และภูมิปัญญาเป็นฐานในการ พัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และ คุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ
2) ภาคีเครือข่ายการศึกษาตลอดชีวิตเกิดแรงจูงใจ และมีความพร้อมในการมีส่วนร่วมเพื่อจัดกิจกรรมการศึกษา
3) ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้เรียนรู้สาระที่สอดคล้องกับ ความสนใจและความจำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสามารถ นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการเทียบโอนผลการเรียนและ เทียบระดับการศึกษาได้
อ้างอิง
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาตลอดชีวิต