
อ้างอิงจาก ดร.จำเริญ จิตรหลัง อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร ตรัง
จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลความรู้มาเสนอ อธิบาย และเพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ จิตวิทยามุ่งศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของร่างกายกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะร่างกายและจิตใจมักมีการแสดงออกร่วมกัน อีกทั้งยังแสดงออกในแนวทางที่สามารถทำนายได
จิตวิทยานับว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งเรียกว่า วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Psychology) แขนงหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องต่อมนุษย์ในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความรู้หรือไม่มีความรูทางด้านนี้เลยก็ตาม จิตวิทยานั้นเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนเราในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านส่วนตัว ครอบครัว การประกอบสัมมาอาชีพ การอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ๆ เป็นต้น วิชาจิตวิทยานั้นจะมุ่งศึกษาเกี่ยวกับทางด้านของ พฤติกรรม (Behavior) ของบุคคลในทุกแง่มุม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จนเกิดความสุข ความสำเร็จ และมีความสุขได้ในสังคมทั้งนี้แล้ว คนโดยส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า “จิตวิทยา”มักจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยาก ไม่น่าศึกษาค้นคว้า แต่ความจริงแล้วนั้น วิชาจิตวิทยาเป็นวิชาที่ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านความคิดและการแสดงออก หรือ บุคลิกภาพ (Personality) ที่ดี ที่เหมาะสม และเกิดการยอมรับในสังคมอีกด้วยมีจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าจิตวิทยานั้นเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องลึกลับของจิตวิญญาณ ไสยศาสตร์ หรือการอ่านจิตใจของมนุษย์ ซึ่งจากความเข้าใจข้างต้นทำให้เกิดความรู้สึก 2 ประการ คือ
1. พยายามที่จะศึกษาจิตวิทยาเพื่อที่อยากมีความสามารถในการเดาใจหรืออ่านใจผู้อื่นได้ และ
2. เกิดความหวาดระแวงในตัวบุคคลที่เรียนจิตวิทยาว่า จะสามารถอ่านใจว่าตนมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรทั้งนี้อาจเนื่องมาจากรากศัพท์ของคำว่า Psychology ก็เป็นได้
ภาษาทางจิตวิทยา
จิตวิทยาก็มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกษาเช่นเดียวกับศาสตร์อื่น ๆ คำศัพท์บางส่วนประกอบด้วยคำศัพท์ที่คนทั่วไปใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน คำศัพท์บางคำก็เป็นคำศัพท์ทางวิชาการที่คุ้นเคย ถึงแม้ศัพท์บางคำจะเป็นที่เข้าใจ และคุ้นเคยของคนทั่วไป แต่นักจิตวิทยาก็ได้ให้ความหมายเฉพาะเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการศึกษาจิตวิทยา
ความหมายของจิตวิทยา
จิตวิทยา (อังกฤษ: psychology อ่านว่า ไซโคโลจี) คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษาเช่น การรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) , อารมณ์, บุคลิกภาพ, พฤติกรรม, และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการศึกษา, การจ้างงานเป็นต้น) และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต นักจิตวิทยามีความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการควบคุมและแสดงออกของพฤติกรรม
จิตวิทยาตรงกับภาษาอังกฤษว่า Psychology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ ได้แก่
Psyche + Logos
Psyche ในภาษา กรีก หมายถึง Mind or Soul นั่นคือ วิญญาณ หรือจิต
Logos หมายถึง Science of Study นั่นคือ วิชาการและการศึกษาหาความรู้
ดังนั้น เมื่อศัพท์ทั้งสองมารวมกันจนกลายเป็น Psychology จึงหมายความถึง วิชาที่ศึกษา
เกี่ยวกับวิญญาณ (A study of the soul) ทั้งนี้เนื่องจากสมัยกรีกโบราณนั้นถือว่าเป็นยุคเริ่มแรกของการศึกษาทางจิตวิทยา ซึ่งนักปรัชญาสมัยนั้นได้พยายามค้นคว้าถึงความสำคัญและความมีอิทธิพลของวิญญาณ (Soul) ต่อการกระทำของมนุษย์ แต่ทั้งนี้วิญญาณเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ ดังนั้นในปลายศตวรรษที่ 19 นักปรัชญารุ่นใหม่จึงเปลี่ยนแนวทางในการศึกษาค้นคว้ามาเป็นศึกษาถึง พฤติกรรม (Behavior) โดยให้ความสำคัญเฉพาะประสบการณ์ นอกจากนั้นแล้ว ในยุคนี้ยังได้ให้ความสำคัญของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยการนำระเบียบวิธีการต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับพฤติกรรมที่แสดงออกทั้งหลายอีกด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จิตวิทยาจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์แขนงหนึ่ง ดังนั้น ในปัจจุบันความหมายของจิตวิทยานั้นจึงหมายความว่าจิตวิทยาเป็นวิชาที่มุ่งศึกษาพฤติกรรม และกระบวนการทางสมองของมนุษย์และสัตว์ โดยใช้ระเบียบวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
คำว่า พฤติกรรม (Behavior) หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกต่าง ๆ ทางร่างกาย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. พฤติกรรมภายนอก (Overt Behavior) หมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทำที่ปรากฏออกมาให้สังเกตเห็นได้ รับรู้ได้ ใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ โดยแบ่งออกได้อีก 2 ลักษณะ ได้แก่
1) แบบโมลาร์ (molar) เป็นพฤติกรรมภายนอกที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ฯลฯ
2) แบบโมเลคิวลาร์ (molecular) เป็นพฤติกรรมภายนอกที่จะรับรู้ได้ โดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบเพียงอย่างเดียว เช่น ความดันเลือด คลื่นสมอง คลื่นหัวใจ การเต้นของชีพจร เป็นต้น
2. พฤติกรรมภายใน (Covert Behavior) หรือกระบวนการทางจิต (mental process) หมายถึง พฤติกรรมที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตา หรือไม่สามารถใช้เครื่องมือตรวจสอบได้โดยตรง เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความจำ การคิด การวิเคราะห์หาเหตุผล ประสบการณ์ ฯลฯ
ทั้งพฤติกรรมภายนอกและพฤติกรรมภายในต่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน นั่นคือ พฤติกรรมภายในเป็นตัวกำหนดการแสดงออกของพฤติกรรมภายนอก เช่น ถ้าพฤติกรรมภายในไม่มีความสุข มีแต่ความเศร้าหมอง ก็จะแสดงออกทางสีหน้า แววตา ท่าทาง เป็นต้นดังนั้น การที่จะเข้าใจบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นจะทำความเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ ฯลฯ ให้ชัดเจนเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่จะต้องสังเกตศึกษาพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมาด้วยเช่นกัน นักจิตวิทยาเชื่อว่าพฤติกรรมทุก ๆ อย่างนั้นย่อมมีเหตุแห่งพฤติกรรม และสาเหตุแค่เพียงประการเดียวก็สามารถจำแนกออกมาเป็นพฤติกรรมได้หลากหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับพฤติกรรมรูปแบบเดียว ก็อาจจะมาจากหลากหลายสาเหตุได้เช่นกัน