วันพฤหัสบดี, 23 มีนาคม 2566

ความหมายของกฎของลูกเสือ

ความหมายของกฎของลูกเสือ

ความหมายของกฎของลูกเสือ

            ข้อ  1  “ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้”

         คนที่มีเกียรติย่อมเป็นคนมีชื่อเสียง  ได้รับความยกย่องนับถือและเป็นคนเชื่อถือได้เมื่อเป็นคนมีเกียรติจะต้องรักษาเกียรติของตนโดยทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับผู้อื่น  เมื่อได้รับมอบหมายงาน  จะต้องตั้งใจทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  ไม่หลีกเลี่ยงงาน  ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง  ถ้าลูกเสือปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้ว  ลูกเสือจะเป็นผู้มีเกียรติเชื่อถือได้

            ข้อ  2  “ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์  และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ”

         สถาบันชาติ  ศาสนา พระมหากษัตริย์  เป็นสถาบันสูงสุดของประเทศ  มีความสำคัญต่อคนไทยทุกคน  ลูกเสือจะต้องมีความจงรักภักดีต่อสถาบันทั้ง  3  โดยลูกเสือต้องเป็นพลเมืองดีของประเทศ  และอาจรับใช้ชาติโดยสมัครเป็นทหาร  ลูกเสือจะต้องประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา  โดยทำความดี  ละเว้นการทำความชั่ว  เคารพและเทิดทูนพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ  นอกจากนี้  ลูกเสือจะต้องกตัญญูรู้คุณ  และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ  เช่น  บิดามารดา  ญาติผู้ใหญ่และครูอาจารย์  เป็นต้น  โดยการทำประโยชน์ให้แก่ท่านเมื่อมีโอกาส

            ข้อ  3  “ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น”

         หน้าที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีลูกเสือจะต้องทำหน้าที่ของตนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนและควรกระทำทุกครั้งที่มีโอกาส  การทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น  ควรเริ่มตั้งแต่ในครอบครัว  ลูกเสือต้องช่วยงานบ้าน  ต่อมา  ควรช่วยเหลืองานของโรงเรียนและสุดท้ายควรช่วยเหลืองานของชุมชน หรือสังคม  เช่น ทำความสะอาดถนน  พัฒนาโรงเรียน  พาเด็กข้ามถนน เป็นต้น  เมื่อลูกเสือปฏิบัติหน้าที่แล้วแม้จะไม่ได้รับสิ่งตอบแทน  แต่ก็ทำให้มีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง  ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ปฏิบัติหน้าที่นี้ต่อไป

            ข้อ  4  “ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก”

         ในชีวิตประจำวัน  ลูกเสือจะได้พบปะกับบุคคลต่าง ๆ ซึ่งลูกเสือควรเป็นมิตรกับบุคคลเหล่านั้นโดยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  โอบอ้อมอารี  มีใจเมตตากรุณาต่อผู้อื่น  เมื่อกระทำดังนั้น  บุคคลต่างๆ ก็จะเป็นมิตรกับลูกเสือด้วย  สมาชิกลูกเสือมีอยู่ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก  ถึงแม้จะมีเชื้อชาติศาสนาต่างกัน  ก็ถือว่าเป็นพี่น้องกัน

            ข้อ  5  “ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย”

         ความสุภาพเรียบร้อยเป็นคุณสมบัติของผู้ดี  ลูกเสือควรแสดงกิริยาท่าทางอย่างสุภาพ  อ่อนโยน  มีสัมมาคารวะ  ไม่พูดจาหยาบคาย  แต่งกายอย่างเรียบร้อยถูกระเบียบของโรงเรียน

            ข้อ  6  “ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์”

         สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต  เช่นเดียวกับคนและมีประโยชน์แก่คน  เช่น  สุนัขช่วยเฝ้าบ้านแมวช่วยจับหนู  นกให้ความเพลิดเพลิน  เป็นต้น  ดังนั้น  ลูกเสือจึงควรมีความเมตตากรุณาแก่สัตว์ไม่รังแกหรือทรมานสัตว์  ควรให้อาหารแก่สัตว์  ควรให้อาหารแก่สัตว์ที่หิวโหย  รักษาบาดแผลของสัตว์ตามความสามารถของตน

            ข้อ  7  “ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา  และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ”

         บิดามารดาเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเราจนเติบโต  มีประสบการณ์มากกว่าเรา  เมื่อท่านสั่งสอนสิ่งใดก็ตาม  เราควรเชื่อฟังและปฏิบัติตาม  จึงจะได้ชื่อเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ  สำหรับผู้บังคับบัญชา  เป็นผู้สั่งสอนให้ความรู้แก่ลูกเสือ  ลูกเสือควรเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งเช่นเดียวกัน  นอกจากเชื่อฟังคำสั่งแล้ว  ลูกเสือต้องให้ความเคารพแก่บิดา  มารดา  และผู้บังคับบัญชาด้วย

            ข้อ  8  “ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก”

         คนที่หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส  อารมณ์ดีเป็นผู้มีสุขภาพจิตดี  ใคร ๆ ก็อยากพูดคุยด้วยลูกเสือจึงควรทำจิตใจให้ร่าเริง  สดชื่นอยู่เสมอ  ถึงแม้ว่าอาจจะมีปัญหารบกวนจิตใจก็ไม่ควรแสดงอาการท้อแท้  เบื่อหน่าย  ควรหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

            ข้อ  9  “ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์”

         ลูกเสือได้เงินค่าใช้จ่ายจากบิดา  มารดา  หรือผู้ปกครองซึ่งหาเงินมาด้วยความยากลำบาก  ลูกเสือจึงต้องช่วยเหลือท่านโดยการใช้เงินอย่างประหยัด  ไม่ฟุ่มเฟือย  ซื้อสิ่งของที่จำเป็นเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายควรเก็บสะสมไว้ในยามที่จำเป็น  เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของบิดามารดาด้วย

            ข้อ  10  “ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย  วาจา  ใจ”

         ลูกเสือเป็นผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดี  จึงควรประพฤติตนเป็นคนดีทั้งกาย  วาจา  และใจ  โดยการทำความดี  พูดจาดี  ไม่ใช้วาจาหยาบคาย  คิดแต่สิ่งดีและเป็นมงคลแก่ตนการประพฤติดังกล่าวจะช่วยให้ลูกเสือเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์

            คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือเป็นข้อปฏิบัติที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเยาวชนเพราะช่วยให้เยาวชนเป็นคนดีและมีคุณภาพ  ตามที่ชาติและสังคมต้องการ  เยาวชนเหล่านี้จะช่วยสร้างสรรค์สังคมและประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป  ดังนั้น  ลูกเสือสามัญทุกคนจะต้องท่องจำคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือได้อย่างแม่นยำแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง

ให้คะแนนบทความนี้
[รวม: 2 เฉลี่ย: 5]