ประวัติจรรยาบรรณครูไทย
อาชีพทุกสาขาต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของตนกำหนดไว้ เช่นเดียวกับ อาชีพครู แต่ในสมัยโบราณอาชีพครูไทยยังไม่มีจรรยาบรรณเป็นลายลักษณ์อักษร ครูไทย จะยึดถือเอาแนวคำสอนตามพุทธศาสนาเป็นหลักปฏิบัติต่อ ๆ มา จนกระทั่งใน พ.ศ. 2506 ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธาน กรรมการอำนวยการคุรุสภาในสมัยนั้น ได้ออกระเบียบจรรยาบรรณสำหรับครูไทยขึ้นมา พร้อมกัน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 เรียกว่า “ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2506“
ประวัติจรรยาบรรณครูไทย พ.ศ. 2506 ม.ล.ปิ่น มาลากุล
- ครูต้องสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- ครูต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของครู ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของสถานศึกษา
- ครูต้องสุภาพเรียบร้อย เชื่อฟัง และไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษาในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ห้ามมิให้กระทำข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำ หรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วครั้งชั่วคราว
- ครูต้องอุทิศเวลาของตนให้สถานศึกษา จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้
- ครูต้องประพฤติตนอยู่ในความสุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์เที่ยงธรรม
- ครูต้องรักษาชื่อเสียงของครูมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามมิให้ประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์และชื่อเสียงของครู เช่น ประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพเครื่องดองของเมาจนไม่อาจครองสติได้ มีหนี้สินรุงรัง หมกมุ่นในการพนัน กระทำผิดอาญาประพฤติผิดในทางประเวณีต่อบุดคลหรือคู่สมรสของผู้อื่น กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำอื่นใดอันอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน
- ครูต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ และไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม
- ครูต้องถือและปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของสถานศึกษา
- ครูต้องรักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่ การงาน
- ครูต้องรักษาความลับของศิษย์ ผู้ร่วมงาน และสถานศึกษา