ประกาศ สำนักงาน ก.พ.
เรื่องรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565
ด้วยสำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2565 ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว 17 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2556 หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว 3 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว 12 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 จึงประกาศรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ระดับวุฒิการศึกษาที่รับสมัครสอบ
รับสมัครสอบผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2565ระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในทุกสาขาวิชา
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ
2.1 ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือเป็นผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2565 ระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในทุกสาขาวิชา
2.2 ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยสอบผ่าน หรือไม่มีหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไประดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ของสำนักงาน ก.พ.
2.3 ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังต่อไปนี้
ก. คุณสมบัติทั่วไป
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี (นับถึงวันปิดรับสมัครสอบ)
(3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ข. ลักษณะต้องห้าม
(1) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(2) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
(3) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(4) เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(5) เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(6) เป็นบุคคลล้มละลาย
(7) เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(8) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
(9) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(10) เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่น
(11) เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ หรือเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (4) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (11) ก.พ. อาจพิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้ แต่ถ้าเป็นกรณีมีลักษณะต้องห้ามตาม (8) หรือ (9) ผู้นั้นต้องออกจากงานหรือออกจากราชการไปเกินสองปีแล้ว และในกรณีมีลักษณะต้องห้ามตาม (10) ผู้นั้นต้องออกจากงานหรือออกจากราชการไปเกินสามปีแล้ว และต้องมิใช่เป็นกรณีออกจากงานหรือออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ สำหรับผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (1) ให้มีสิทธิสมัครสอบได้ แต่จะมีสิทธิได้รับบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่สอบแข่งขันได้ต่อเมื่อพ้นจากการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว
สำหรับพระภิกษุหรือสามเณร ทางราชการไม่รับสมัครสอบ และไม่อาจให้เข้าสอบได้ ทั้งนี้ ตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ นว 89/2501 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2501และตามความในข้อ 4 ของคำสั่งมหาเถรสมาคม ที่ 1/2564 ลงวันที่ 28 กันยายน 2564
- การรับสมัครสอบ
3.1 ผู้สมัครสอบสามารถกรอกข้อมูลการสมัครสอบได้ที่เว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th หัวข้อ “สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565” ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.30 น. ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) เว้นแต่กรณีที่ผู้สมัครสอบทั้ง 10 รอบสอบ มีการสมัครสอบครบตามจำนวนที่นั่งสอบทั้ง 105,174 ที่นั่งสอบ ก่อนวันที่กำหนดดังกล่าว จะไม่สามารถกรอกข้อมูลการสมัครสอบได้ ทั้งนี้ รายละเอียดศูนย์สอบ และจำนวนที่นั่งสอบเป็นไปตามเอกสารแนบท้าย 1
3.2 ผู้สมัครสอบจะต้องสมัครสอบตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 กรอกข้อมูลการสมัครสอบและพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน
(1) เข้าเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th หัวข้อ “สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565” หัวข้อย่อย “สมัครสอบ” แล้วกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เลือกรอบสอบ และเลือกศูนย์สอบที่ต้องการ ให้ถูกต้อง และครบถ้วน เมื่อยืนยันการสมัครสอบแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ทั้งนี้ รายละเอียดรอบสอบปรากฏตามเอกสารแนบท้าย 2
(2) ระบบรับสมัครสอบจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของผู้สมัครสอบ กรณีที่ระบบตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้สมัครสอบเป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับวุฒิการศึกษาใดแล้ว ผู้สมัครสอบจะไม่สามารถสมัครสอบในระดับวุฒิการศึกษาเดียวกันหรือต่ำกว่าได้ ยกเว้นกรณีที่ผลการสอบผ่านของผู้สมัครสอบเป็นโมฆะ และต้องการสมัครสอบในครั้งนี้ ผู้สมัครสอบจะต้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้มีสิทธิสมัครสอบ พร้อมสำเนาระเบียนแสดงผลการศึกษา (Transcript of Records) หรือเอกสารอื่น ๆ ผ่านเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th ภายในวันปิดรับสมัครสอบ
(3) ระบบจะกำหนดแบบฟอร์มการชำระเงินที่มี QR Code ให้ผู้สมัครสอบสามารถสแกนชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” หรือ “เป๋าตัง” ได้ทันที หรือสามารถพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงินลงในกระดาษขนาด A4 เพื่อชำระเงินในภายหลัง หรือหากไม่มีเครื่องพิมพ์ในขณะนั้น ให้บันทึกข้อมูลเก็บไว้ในรูปแบบ File ลงในสื่อบันทึกข้อมูล
ในกรณีที่แบบฟอร์มการชำระเงินสูญหาย หรือกรอกใบสมัครแล้ว แต่ยังไม่ได้พิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน ผู้สมัครสอบสามารถเข้าไปค้นหาในระบบรับสมัครสอบ และพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงินใหม่ได้
(4) กรณีมีที่นั่งสอบว่างจากการไม่ชำระเงินภายในวันและเวลาที่กำหนด ผู้สมัครสอบสามารถตรวจสอบที่นั่งสอบที่ว่างได้ ในเวลาประมาณ 08.00 น. และสามารถสมัครสอบได้ ในเวลา 08.30 น. ของทุกวัน จนกว่าที่นั่งสอบจะเต็มทุกรอบสอบ หรือจนกว่าจะปิดการรับสมัครสอบ
ขั้นตอนที่ 2 ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ
(1) ผู้สมัครสอบต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ ภายในเวลา 22.00 น. ของวันถัดไป นับจากวันที่ที่ได้ยืนยันการสมัครสอบตาม (1) ของขั้นตอนที่ 1 และหากไม่ชำระเงินภายในวันและเวลาดังกล่าว ใบสมัครสอบจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ
(2) ผู้สมัครสอบต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ จำนวน 330 บาท ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมสอบ จำนวน 300 บาท และค่าธรรมเนียมธนาคารรวมค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต คิดสูงสุดไม่เกิน 30 บาท โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะไม่จ่ายคืนให้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
(3) ผู้สมัครสอบสามารถชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบได้ 4 ช่องทาง คือ
– ช่องทางที่ 1 ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายในวันและเวลาทำการของธนาคาร และตามวัน เวลาที่กำหนดในแบบฟอร์มการชำระเงินและให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ด้วย ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในหลักฐานการชำระเงิน หากพบว่าไม่ถูกต้อง ให้รีบติดต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาที่ชำระเงินทันที
- ช่องทางที่ 2 ชำระเงินผ่านเครื่อง ATM ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามวัน เวลาที่กำหนดในแบบฟอร์มการชำระเงิน โดยผู้สมัครสอบที่มีบัตร ATM ของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) สามารถนำแบบฟอร์มการชำระเงิน ไปทำรายการชำระเงินผ่านเครื่อง ATM ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเลือกประเภทบริการ “บริการอื่น ๆ” เลือก “ชำระค่าบริการ/เติมเงินมือถือ” และเลือก“ระบุรหัสบริษัท/Biller ID” แล้วระบุรหัสบริษัทเป็น “92318” และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้และให้เก็บหลักฐานการชำระเงิน (Slip) ไว้เป็นหลักฐานด้วย
– ช่องทางที่ 3 ชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” ตามวัน เวลาที่กำหนดในแบบฟอร์มการชำระเงิน โดยผู้สมัครสอบที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ลงทะเบียน (Register) ขอใช้บริการแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” แล้ว สามารถนำรหัส QR Code ไปทำรายการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้ และให้เก็บหลักฐานการชำระเงิน (Slip) ไว้เป็นหลักฐานด้วย
– ช่องทางที่ 4 ชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตามวัน เวลาที่กำหนดในแบบฟอร์มการชำระเงิน โดยผู้สมัครสอบที่ได้ลงทะเบียน (Register) ขอใช้บริการแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วสามารถนำรหัส QR Code ไปทำรายการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้ และให้เก็บหลักฐานการชำระเงิน (Slip) ไว้เป็นหลักฐานด้วยการสมัครสอบจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้สมัครได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบเรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบสถานะการสมัครสอบ
หลังจากที่ได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบแล้ว 1 วัน ให้ผู้สมัครสอบตรวจสอบสถานะการสมัครสอบทางเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th หัวข้อ “สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565” หัวข้อย่อย “ตรวจสอบสถานะการสมัครสอบ” โดยกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อตรวจสอบสถานะการสมัครสอบ
ขั้นตอนที่ 4 อัปโหลด (upload) รูปถ่าย
เมื่อสำนักงาน ก.พ. ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบแล้ว ให้ผู้สมัครสอบเข้าไปอัปโหลดรูปถ่ายบนเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 14 – 30 มิถุนายน 2565 โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th หัวข้อ “สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565” หัวข้อย่อย “อัปโหลด (upload) รูปถ่าย” แล้วกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่ออัปโหลด (upload) รูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน พื้นหลังไม่มีลวดลาย (ประเภทของไฟล์เป็น .JPG) โดยต้องเป็นรูปถ่ายที่ใช้ในการสมัครงาน รูปถ่ายที่อัปโหลดจะปรากฏบนบัตรประจำตัวสอบและหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. และไม่สามารถแก้ไขได้
กรณีที่ผู้สมัครสอบไม่ได้อัปโหลด (upload) รูปถ่าย จะไม่สามารถพิมพ์บัตรประจำตัวสอบได้ทั้งนี้ การไม่มีบัตรประจำตัวสอบจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ
ขั้นตอนที่ 5 พิมพ์บัตรประจำตัวสอบ
ผู้สมัครสอบสามารถพิมพ์บัตรประจำตัวสอบได้ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ภายหลังจากการดำเนินการตามขั้นตอนที่ 4 เสร็จสิ้นแล้ว โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th หัวข้อ “สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565” หัวข้อย่อย “ค้นหาสถานที่สอบและพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ” โดยกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ พร้อมลงลายมือชื่อ และนำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ในวันสอบ ณ จุดลงทะเบียน
ทั้งนี้ บัตรประจำตัวสอบถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องนำไปแสดงตนเพื่อใช้ในการเข้าห้องสอบ หากไม่มีบัตรประจำตัวสอบจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ และแม้ว่ามีบัตรประจำตัวสอบ แต่หากรูปถ่ายที่ปรากฏบนบัตรประจำตัวสอบไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในขั้นตอนที่ 4 ให้ถือเป็นความบกพร่องของผู้สมัครสอบ
และจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบเช่นเดียวกัน
- เงื่อนไขการสมัครสอบ
4.1 ผู้สมัครสอบที่เลือกสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2565 และได้สมัครสอบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามประกาศฉบับนี้แล้ว จะไม่สามารถสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2565 ได้
4.2 การรับสมัครสอบ จำนวน 10 รอบสอบ ณ ศูนย์สอบ 19 แห่ง ตามที่กำหนด ผู้สมัครสอบสามารถสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ตได้เพียงครั้งเดียว และสามารถเลือกรอบสอบได้เพียง 1 รอบสอบ 1 ศูนย์สอบเท่านั้น เมื่อเลือกและยืนยันการสมัครสอบแล้ว จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลการสมัครสอบไม่ได้
4.3 ผู้สมัครสอบที่เคยสอบผ่าน หรือมีหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับวุฒิการศึกษาใดแล้ว จะไม่สามารถสมัครสอบในระดับวุฒิการศึกษาเดียวกัน หรือต่ำกว่าได้
4.4 การกำหนดวัน เวลา และสถานที่สอบ เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด
4.5 การสมัครสอบตามขั้นตอนข้างต้น ถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ลงลายมือชื่อ และรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น หากผู้สมัครสอบจงใจกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
4.6 ผู้สมัครสอบต้องรับผิดชอบในการรับรองตนเองว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษา หรือเป็นผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาตามประกาศรับสมัครสอบ และต้องกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงตามความเป็นจริง ในกรณีที่มีความผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครสอบ สำนักงาน ก.พ. จะถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบมาตั้งแต่ต้น
4.7 การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565 สามารถรองรับผู้สมัครสอบที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงวันที่ 30 เมษายน 2552 เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการและที่แก้ไขเพิ่มเติม เท่านั้น โดยสำนักงาน ก.พ. จะพยายามอำนวยความสะดวกให้ในวันสอบตามที่ผู้สมัครสอบแจ้งไว้ในใบสมัคร และตามที่สำนักงาน ก.พ. เห็นสมควร - การประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ วัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบ
สำนักงาน ก.พ. จะประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ วัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบ ในวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ทางเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th หัวข้อ “สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565” หัวข้อย่อย “ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ
วัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบ” - หลักสูตรและวิธีการสอบ
ทดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (คะแนนเต็ม 200 คะแนน) โดยวิธีการสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้
6.1 วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) เป็นการทดสอบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ครอบคลุมประเด็น ดังนี้
(1) การคิดวิเคราะห์เชิงภาษา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย การจับใจความสำคัญ การสรุปความ การตีความจากบทความ ข้อความ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ
(2) การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรม ได้แก่ การคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงคำ ข้อความหรือรูปภาพ ตลอดจนการหาข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลจากข้อความ สัญลักษณ์ รูปภาพ สถานการณ์หรือแบบจำลองต่าง ๆ และ
(3) การคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ ได้แก่ ความเข้าใจ ความคิดรวบยอด และแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น การเปรียบเทียบและวิเคราะห์เชิงปริมาณ ตลอดจนการประเมินความเพียงพอของข้อมูล
6.2 วิชาภาษาอังกฤษ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) เป็นการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเพื่อวัดความเข้าใจในหลักการสื่อสาร โดยใช้ศัพท์ สำนวน โครงสร้างประโยคที่เหมาะสม ทั้งในเชิงความหมายและบริบท แสดงถึงความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การวัดความสามารถด้านการอ่าน โดยทดสอบการทำความเข้าใจในสาระของข้อความหรือบทความ และการวัดความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษในระดับเบื้องต้น
6.3 วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) เป็นการทดสอบความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการเป็นข้าราชการที่ดี ได้แก่ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หน้าที่และความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตลอดจนเจตคติและจริยธรรมสำหรับข้าราชการ - เกณฑ์การสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไป
7.1 ระดับปริญญาตรี
ผู้ที่จะถือว่าเป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ต้องเป็นผู้สอบวิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ได้คะแนนรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 วิชาภาษาอังกฤษ ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และวิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
7.2 ระดับปริญญาโท
ผู้ที่จะถือว่าเป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ต้องเป็นผู้สอบวิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ได้คะแนนรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 วิชาภาษาอังกฤษ ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และวิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 - การประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านและการพิมพ์หนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไป
สำนักงาน ก.พ. จะประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ทางเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th
ทั้งนี้ ผู้ที่สอบผ่านสามารถพิมพ์หนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ได้ทางเว็บไซต์ https://job.ocsc.go.th หัวข้อ “พิมพ์หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน” และดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ทางเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2565 เป็นต้นไป - การนำหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ไปใช้ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการของส่วนราชการต่าง ๆ
9.1 ผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. สามารถนำหนังสือรับรองผลการสอบดังกล่าวไปใช้สมัครสอบกับส่วนราชการที่ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ โดยต้องมีคุณวุฒิการศึกษาตรงตามประกาศรับสมัครสอบของส่วนราชการนั้นในครั้งนั้นด้วย
9.2 หนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ.สามารถใช้ได้ตลอดไป เว้นแต่ ก.พ. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น
9.3 หนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าสามารถนำไปใช้ในการสอบแข่งขันในระดับวุฒิการศึกษาที่ต่ำกว่าได้
9.4 ผลการสอบถือเป็นโมฆะ เมื่อเข้ากรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้
(1) เลขประจำตัวประชาชนของผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปไม่ตรงกับฐานข้อมูลทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนของกรมการปกครอง
(2) ผู้สอบผ่านไม่สำเร็จการศึกษาภายในปีการศึกษา 2565
(3) ผู้สอบผ่านเป็นผู้กระทำการทุจริตในการสอบตามประกาศนี้ - การขอดูผลคะแนนสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป
10.1 ผู้สมัครสอบสามารถดูผลคะแนนสอบได้ทางเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th หัวข้อ “การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565” หัวข้อย่อย “ดูผลคะแนนสอบ” โดยกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และรหัสผ่านที่กำหนดไว้ตอนสมัครสอบ
10.2 การประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ให้ถือเป็นที่สุด ผู้สอบไม่มีสิทธิขอให้ทบทวนแต่ประการใด กรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลการสอบ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ. ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน
การวัดความรู้ความสามารถทั่วไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565
พัชรา เพ็ชรทวี
(นางสาวพัชรา เพ็ชรทวี)
รองเลขาธิการ ก.พ. ปฏิบัติราชการแทน
เลขาธิการ ก.พ.
สำเนาถูกต้อง
ชัยวัฒน์ อนุจารี
(นายชัยวัฒน์ อนุจารี)
นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ