ปรนัย แปลเป็นภาษาอังกฤษ คือ objective
ปรนัย คืออะไร ? ปรนัย ก็คือ ข้อสอบ กากบาท
อัตนัย ก็คือ ข้อสอบ เขียนบรรยาย นั้นเอง
ปรนัย
ข้อสอบปรนัย (objective test)
ลักษณะโดยทั่วไปของข้อสอบปรนัย จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือคำถาม และคำตอบ ตัวคำถามของข้อสอบปรนัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ตอบได้แสดงความรู้ความสามารถต่าง ๆ ตามที่ผู้ถามต้องการ ซึ่งจะวัดตั้งแต่ความจำผิวเผินไปจนถึงวัดพฤติกรรมที่ลึกซึ้งคือการประเมินค่า คำถามแต่ละข้อจะถามเฉพาะจุดเล็ก ๆ ของเนื้อหา ดังนั้นจึงมีจำนวนมากข้อ ส่วนคำตอบของคำถามประเภทนี้ผู้ตอบต้องใช้เวลาในการคิดและการตอบเป็นส่วนใหญ่ การเขียนตอบจะใช้เวลาน้อยซึ่งอาจเขียนเป็นประโยคสั้น ๆ หรือทำเครื่องหมายบนคำตอบที่ต้องการ (บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์. 2526 : 122) ดังนั้น สาระสำคัญของผู้ตอบที่ต้องปฏิบัติมี ดังนี้ (Throndike and Hagen. 1969 : 64)
1. ต้องอ่านข้อสอบที่มีทั้งคำถามและคำตอบที่สมบูรณ์ ทำให้ผู้ตอบไม่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นในคำตอบนั้นเลย
2. เลือกคำตอบที่ถูกที่สุด จากตัวเลือกที่ผู้เขียนข้อสอบกำหนดมาให้
3. ต้องตอบคำถามจากข้อสอบหลายข้อ
ข้อสอบปรนัย
ข้อสอบปรนัยสามารถแบ่งแยกย่อยได้ 5 ประเภท คือ
1. แบบตอบสั้นๆ
2. แบบเติมคำ
3. แบบจับคู่
4. แบบถูก-ผิด
5. แบบเลือกตอบ
ซึ่งจะขอเสนอรายละเอียดในแต่ละประเภท ดังนี้
ข้อสอบปรนัย
1. ข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ (short answer test)
ลักษณะข้อสอบ จะประกอบด้วยคำถามที่สมบูรณ์ ต้องกำหนดให้ผู้ตอบแสดงความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยการเขียนตอบ โดยตัวคำตอบจะมีลักษณะเป็นคำเดี่ยว ๆ หรือประโยคสั้น ๆ
หลักการสร้าง
1. ตั้งปัญหาเป็นรูปคำถาม และต้องการคำตอบเพียงสั้น ๆ เช่น
– ประธานาธิบดีอเมริกาคนปัจจุบันชื่ออะไร
– วิหคแปลว่าอะไร
2. ต้องเป็นคำถามที่มีคำตอบตายตัวแน่นอน
ข้อดีของข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ
1. สร้างง่าย สะดวกรวดเร็ว
2. สามารถเขียนคำถามได้มากข้อ
3. เขียนคำตอบได้ง่ายกว่าข้อสอบอัตนัย
4. เหมาะสำหรับวัดพฤติกรรมความรู้-ความจำ เช่น การถามคำศัพท์ กฎ นิยาม เป็นต้น
ข้อจำกัดของข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ
1. บางครั้งอาจเกิดปัญหาในการตรวจให้คะแนน เช่น ผู้ตอบใช้ภาษาผิดพลาด
2. ตรวจยากกว่าข้อสอบปรนัยประเภทกำหนดคำตอบมาให้
3. ไม่เหมาะที่จะวัดพฤติกรรมขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินค่า
4. ยากที่จะเขียนคำถามเพื่อให้ได้เพียงคำตอบเดียว
ตัวอย่างข้อสอบแบบตอบสั้น ๆ
1. นายกรัฐมนตรีของไทยคนปัจจุบันชื่ออะไร
2. จงให้ความหมายของคำว่า การประเมินผล
3. เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นบทประพันธ์ของใคร
2. ข้อสอบแบบเติมคำ (completion test)
ลักษณะข้อสอบ ข้อสอบเติมคำจะเขียนประโยคหรือข้อความตอนนำไว้ แล้วเว้นว่าง
ข้อความหรือท้ายข้อความสำหรับให้เติมคำ เพื่อให้ข้อความนั้นถูกต้องสมบูรณ์ การเว้นช่องว่างให้เติมอาจเว้นมากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้
หลักการสร้าง
1. พยายามเขียนปัญหาให้แจ่มชัด เฉพาะเจาะจงไม่กำกวม เพราะถ้าคำถามกำกวมจะทำให้
ผู้ตอบเสียเวลาในการตีความ
ไม่ดี : – ผู้ที่อุปสมบทได้ต้อง…………………………………………………………..
โจทย์ข้อนี้อาจตอบได้ว่าเป็นชาย ,ไม่วิกลจริต หรือต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ก็ได้
ดีขึ้น : ผู้ที่อุปสมบทได้ต้องเป็นชายอายุ…(20)…ปีบริบูรณ์
2. อย่าเว้นช่องว่างสำหรับเติมหลายที่ จนกระทั่งไม่ทราบว่าโจทย์ต้องการอะไร เช่น
ไม่ดี : …………หาได้โดยเอา………….หารด้วย……………..
ดีขึ้น : ความเร็วหาได้โดยเอา….(ระยะทาง)….หารด้วย…..(เวลา)…..
3. คำที่นำมาเติมในช่องว่าง ควรเป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่สิ่งปลีกย่อย เช่น
ไม่ดี : ในปี 1492 โคลัมบัส…(พบ)…อเมริกา
ดีขึ้น : โคลัมบัสพบอเมริกาในปี ค.ศ. ..(1492)..
4. การเว้นช่องว่างไว้ท้ายข้อความดีกว่าไว้ข้างหน้าหรือตอนกลาง เช่น
ไม่ดี : ..(H2O)..คือสัญลักษณ์ทางเคมีของน้ำ
ดีขึ้น : สัญลักษณ์ทางเคมีของน้ำคือ..(H2O)..
5. ไม่ควรลอกข้อความจากหนังสือมาเขียนถาม โดยการตัดข้อความบางตอนออกเพราะจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนตอบด้วยวิธีท่องจำ
6. ควรสร้างประโยคคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่สั้นที่สุด
7. พยายามถามในสิ่งที่มีคำตอบถูกเพียงคำตอบเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการตรวจ
8. เว้นที่ว่างสำหรับเติมคำตอบให้เพียงพอ เพราะนักเรียนแต่ละคนเขียนหนังสือโตไม่เท่ากัน และช่องว่างในแต่ละข้อควรมีขนาดเท่า ๆ กัน เพื่อป้องกันการแนะคำตอบ
9. คะแนนในแต่ละช่องควรให้เท่ากัน
ข้อดีของข้อสอบแบบเติมคำ
1. สร้างง่ายสะดวกและรวดเร็ว
2. โอกาสที่ตอบถูกโดยการเดามีน้อย
3. สามารถสร้างคำถามวัดในเรื่องหนึ่ง ๆ ได้หลายข้อ
ข้อจำกัดของข้อสอบเติมคำ
1. วัดพฤติกรรมความรู้-ความจำ ซึ่งเป็นความรู้ขั้นต่ำ
2. ถ้าส่วนที่ต้องการเติมมีหลายเรื่อง ก็ไม่เหมาะที่จะสร้างข้อสอบประเภทนี้ เพราะการเว้นที่อาจเป็นการแนะคำตอบ เช่น
-ธงชาติไทยมี……..สี คือ 1……………… 2………………. 3…………………
3. ขาดความเป็นปรนัยในกรณีที่เขียนประโยคนำไม่ดี เช่น
ไม่ดี : สบู่เป็น……………………………………………………
ดีขึ้น : สบู่เป็นของผสมระหว่าง….(ไขมัน)….กับ….(ด่าง)….
ตัวอย่างข้อสอบ
1. จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทยปี พ.ศ. 2539 คือ ………………………….
2. สีม่วงเกิดจากการผสมระหว่างสี…………………………….กับสี……………………………… .
3. กษัตริย์ที่ทรงกอบกู้เอกราชพระองค์แรกของกรุงศรีอยุธยาคือ……………………………
3. ข้อสอบแบบจับคู่ (matching test)
ลักษณะข้อสอบ ข้อสอบจะประกอบไปด้วยภาคคำถาม และภาคคำตอบ โดยผู้ตอบจะต้องจับคู่ระหว่างคำถามและคำตอบที่กำหนดให้ตรงกัน หรือสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผล ตัวอย่าง เช่น
คำชี้แจง แถว ก ประกอบด้วยรายการที่เกี่ยวกับคำนาม จงเลือกลักษณะนามจากอักษรในแถว ข ที่เหมาะสม หรือสอดคล้องที่สุดกับข้อความในแถว ก คำตอบในแถว ข อาจนำไปใช้มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่ใช้เลยก็ได้
แถว ก | แถว ข |
…….1. เข็ม…….2. ช้าง……3. หนังสือ……4. รถ…….5. แห | ก. ปากข. เชือกค. เล่มง. ตัวจ. คันฉ. ด้ามช. ผืนซ. หลัง |
หลักการสร้าง
1. คำสั่ง หรือคำชี้แจงที่จะให้ผู้ตอบปฏิบัติอย่างไร ควรเขียนให้ชัดเจน
2. จำนวนข้อความในภาคคำตอบควรมีจำนวนมากกว่าข้อความในภาคคำถาม 3-5 ข้อ
(สุภาพ วาดเขียน และอรพินธ์ โภชนดา. 2520 : 59)
3. คำที่อยู่ในภาคคำถามและคำตอบควรเป็นชนิดเดียวกัน หรืออาจสร้างเป็นประโยค วลี เครื่องหมายใด ๆ รูปภาพ ตัวเลข หรือตัวอักษร โดยเมื่อนำภาคคำถามและคำตอบมาเข้าคู่กันแล้ว จะได้ข้อความที่สอดคล้องกัน
4. คำที่เข้าคู่กันควรจะวางตำแหน่งให้อยู่สลับกันหรืออาจจะจัดเรียงลำดับตามตัวอักษรเวลา หรือจากมากไปหาน้อย เพื่อที่จะได้สะดวกในการพิจารณาคำตอบและลดการเดา
5. พยายามให้ภาคคำถาม และภาคคำตอบสมดุลย์กัน จำนวนข้อย่อยในภาคคำถามควรอยู่ระหว่าง 5-8 ข้อย่อย
(อนันต์ ศรีโสภา. 2525 : 120) เพราะถ้าหากคำถามมากจะทำให้นักเรียนเสียเวลาในการหาคำตอบ เช่น
ถ้าภาคคำถามมี 5 ข้อย่อย ภาคคำตอบจะมี 8-10 ข้อย่อย
ถ้าภาคคำถามมี 7 ข้อย่อย ภาคคำตอบจะมี 10-12 ข้อย่อย
6. ทั้งภาคคำถามและภาคคำตอบจะต้องอยู่หน้าเดียวกัน
ข้อดีของข้อสอบแบบจับคู่
1. สร้างง่ายและประหยัดเวลา
2. สามารถถามได้มากข้อในเวลาจำกัด
3. เหมาะสำหรับการวัดความจำ
4. ตรวจให้คะแนนสะดวกรวดเร็ว เพราะสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจได้
5. สามารถพัฒนาเป็นข้อสอบเลือกตอบแบบตัวเลือกคงที่ได้
ข้อจำกัดของข้อสอบแบบจับคู่
1. เป็นการยากที่จะสร้างข้อคำถามให้เป็นเอกพันธ์กัน
2. วัดความสามารถชั้นสูงได้น้อย
3. ข้อสอบข้อท้าย ๆ มีโอกาสตอบถูกได้ง่าย
4. ข้อสอบแบบถูกผิด (true-false items)
ลักษณะข้อสอบ เป็นข้อสอบที่ให้พิจารณาข้อความที่เป็นปัญหานั้นว่าถูกหรือผิดตามหลักวิชา โดยผู้ตอบต้องทำรหัสหรือเครื่องหมายลงที่ข้อความนั้น ๆ ตามที่โจทย์กำหนด เช่น ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เป็นต้น
หลักการสร้าง
1. เขียนข้อสอบที่ต้องการจะถามให้อยู่ในรูปประโยคบอกเล่า โดยข้อความที่ถามไม่ควรจะยากเกินไปนัก
2. ควรใช้ภาษาง่าย ๆ ไม่คลุมเครือหรือกำกวม เพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นักเรียนทำ
ข้อสอบผิด เช่น
ไม่ดี : ถูก ผิด ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
โจทย์ข้อนี้นักเรียนอาจตีความหมายผิดจากที่ครูต้องการ เพราะคิดว่าคนเรามีความสามารถทางสมองต่างกัน รูปร่างต่างกัน เป็นต้น
ดีขึ้น : ถูก ผิด ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
3. หลีกเลี่ยงการใช้คำบางประเภทที่อาจเป็นการชี้แนะคำตอบได้ เช่น คำว่าทั้งหมด เสมอๆ ทุก ๆ ไม่มีเลย ฯลฯ คำประเภทนี้จะมีโอกาสทำให้ข้อความผิดมากกว่าถูก ส่วนคำว่า อาจจะ บางอย่าง บางครั้ง โดยทั่วไปคำประเภทนี้มีโอกาสที่จะทำให้ข้อความถูกมากกว่าผิด
ไม่ดี : ในสมัยกรุงสุโขทัยประเทศไทยทำสงครามกับพม่าบ่อย ๆ
ดีขึ้น : ในสมัยกรุงสุโขทัยประเทศไทยทำสงครามกับพม่ามากกว่า 5 ครั้ง
4. พยายามใช้ข้อความที่แสดงปริมาณมากกว่าข้อความแสดงคุณภาพ เพราะการใช้คำว่า มาก น้อย ดี เลว เป็นสิ่งที่ตัดสินใจลำบาก
ไม่ดี : คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หลายคน
ดีขึ้น : คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่า 1 ใน 4
5. ข้อความแต่ละข้อควรถามประเด็นเดียว ไม่ใช่ว่าส่วนแรกผิดส่วนหลังถูกเพราะจะทำให้ลำบากในการตอบ
ไม่ดี : ปลาโลมาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ดีขึ้น : ปลาโลมาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
ดีขึ้น : ปลาโลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
6. หลีกเลี่ยงการใช้คำที่เป็นคำสั่ง เพราะไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าถูกหรือผิด
ไม่ดี : จงแปรงฟันทุกวัน วันละสามครั้ง
7. หลีกเลี่ยงการใช้คำปฏิเสธซ้อน เพราะจะทำให้เด็กตีความลำบาก แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้คำปฏิเสธควรจะขีดเส้นใต้ด้วย เช่น
ไม่ดี : เด็กไม่ดื้อ ไม่ใช่เด็กไม่ดี
ดีขึ้น : เด็กดื้อไม่ใช่ เด็กดี
8. ในกรณีออกข้อสอบประเภทถูกผิดทั้งหมดควรสร้างคำถามให้มีจำนวนข้อมาก ๆ เช่น 50, 100 หรือ 200 ข้อ และควรวางตำแหน่งข้อถูก-ผิด สลับกันอย่างไม่มีระบบ เพื่อป้องกันการเดา
9. ควรกำหนดคะแนนไว้ในคำชี้แจงให้แน่นอน เช่น กำหนดข้อละ 1 คะแนน และไม่ควรหักคะแนนหรือติดลบข้อที่ทำผิด
ข้อดีของข้อสอบแบบถูก-ผิด
1. ตรวจง่าย รวดเร็ว ยุติธรรม มีความเป็นปรนัย
2. สามารถวัดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้ความจำได้ดี
3. สามารถสอบเนื้อหาวิชาได้มากกว่าข้อสอบแบบอื่นในเวลาที่เท่ากัน
4. สามารถพัฒนาเป็นแบบทดสอบเลือกตอบได้
5. ออกข้อสอบง่าย และได้จำนวนมากข้อ แต่ผู้สอบใช้เวลาทำน้อย
ข้อจำกัดของข้อสอบแบบถูก-ผิด
1. นักเรียนได้คะแนนเนื่องจากการเดามีค่อนข้างสูง เพราะเลือกจากหนึ่งในสองอย่าง
2. ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยได้ว่า สาเหตุที่นักเรียนทำข้อสอบผิดเนื่องมาจากอะไร
3. มีความเชื่อมั่นต่ำ ดังนั้นควรออกข้อสอบไม่น้อยกว่า 50 ข้อ (Stanley and Hopkins. 1972)
4. ส่วนมากวัดได้เฉพาะพฤติกรรมความรู้-ความจำ
5. ส่งเสริมการเรียนที่ไม่ดีแก่นักเรียน เพราะว่านักเรียนทำข้อสอบเพียงแค่ทำเครื่องหมายถูกผิดเท่านั้น
ตัวอย่างข้อสอบ
…….1. ผู้ชนะสิบทิศเป็นบทประพันธ์ของสุนทรภู่
…….2. ยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือดอยสุเทพ
…….3. ราคาขายคือผลบวกของราคาซื้อและกำไร