โครงงานคุณธรรม การทำดีเชิงรุกพร้อมกับการเรียนรู้ชีวิตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
โครงงานคุณธรรม ถูกออกแบบมาเพื่อให้ตอบโจทย์ คำท้าทายที่ว่าเด็กไทยไม่ใฝ่ดี ใฝ่ต่ำทำชั่วมั่วเพศเสพยา ละอายการทำดี ทำงานเป็นทีมไม่เป็น คิดวิเคราะห์ไม่ได้ โดยการสร้างเงื่อนไขให้เขาใช้ปัญหาจริงที่ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ไม่ว่าในโรงเรียนหรือในครอบครัวในชุมชน นำมาตรวจสอบ วิเคราะห์ วางแผน แสวงหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงเข้าใจปัญหานอกตัวเท่านั้น นี่ยังเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงสู่ตนเอง เพราะคุณสมบัติของโครงงานคุณธรรมนั้น พิเศษตรงที่เป็นเรื่องในชีวิตจริง เป็นประเด็นปัญหาจริงๆ ในชีวิต ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วม เกี่ยวข้อง สัมพันธ์อยู่ด้วยกันนั่นเอง แต่อาจไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้น ด้วยกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ จึงพบทางออกของปัญหาด้วยปัญญา โครงงานคุณธรรมจึงเป็นกระบวนการที่นำพาให้เด็กไทยสามารถทำโครงงานจริงในชีวิตด้วยวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์นั่นเอง
โครงงานคุณธรรม นั้น เน้นการนำปัญหาในชีวิตจริงมาเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน อันจะเป็นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตด้วยวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หรือ ด้วยกระบวนการทางปัญญา อันพอจะสรุปได้เป็นลำดับขั้นดังนี้
1.) สังเกตปัญหา ระดมความคิด เลือก ระบุ วิเคราะห์ เชื่อมโยง “ปัญหา–สาเหตุ” ได้ชัดเจน เห็นความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องกันได้ตลอดสาย (จาก “ภายนอก” สู่ “ภายใน” ชีวิตจิตใจของตนเอง)
2.) คาดการณ์และระบุ “เป้าหมาย” ของการแก้ปัญหาให้ชัด ทั้งเป้าหมายในตัวคน (พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา ที่คาดหวัง) เป้าหมายนอกตัวคน (สิ่งแวดล้อม-กายภาพ) เป้าหมายเชิงปริมาณ เป้าหมายเชิงคุณภาพ เป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และเมื่อรู้จุดหมายปลายทางชัด การกำหนดทิศทางและการเดินทางก็จะชัดไปด้วย
3.) วางแผนและออกแบบ “ทางแก้” หรือวิธีการทดลองอย่างมีหลักเกณฑ์ ที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด (คือแก้ที่สาเหตุ) และถึงพร้อมที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
4.) ลงมือทำ พร้อมกับเรียนรู้ แสวงหา ฝึกฝน “คุณธรรมจากภายในตน” ไปสู่ “การแก้ปัญหาภายนอก” ทั้งการเรียนรู้ส่วนบุคคลจำเพาะตน และเรียนรู้ร่วมกันผ่านกระบวนการกลุ่ม
5.) ลงมือปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ มีการติดตามและเก็บบันทึกข้อมูล ทำตามแผนงานอย่างยืดหยุ่น มุ่งมั่นทุ่มเทแต่ไม่ยึดติดมากเกินไป เรียนรู้อย่างตื่นตัวเท่าทันพร้อมปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขสูงสุดแม้มีข้อจำกัดมากมาย
6.) ประมวลผล–สรุปผลประเมินผลการบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ การประเมินตนเอง การย้อนพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง และการต่อยอดขยายผล
7.) นำเสนอสื่อสาร ข้อมูลเรื่องราวการทำโครงงานผลของการทำงาน สู่สาธารณะ อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นการแพร่ขยายความดี-สื่อสารความดี บอกต่อองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาต่างๆ เผยแพร่วิธีการในการทำความดี อันจะเป็นการเสริมสร้างค่านิยมการทำความดี สร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีให้กับผู้อื่นต่อๆ ไป และเป็นการสืบต่อความดีต่อไปได้ไม่สิ้นสุด
แก่นการเรียนรู้คือ “ร่วมกันทำดีอย่างมีปัญญา”
กระบวนการเรียนรู้ที่ดีและสมบูรณ์ของโครงงานคุณธรรมนั้น จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันก่อน อันเป็นปัจจัยต้นเริ่มที่สำคัญที่สุด จึงต้องออกแบบและจัดวางเงื่อนไขให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้รับผิดชอบโครงงานจำนวน 8-10 คน และที่ปรึกษาอีก 3 คน โดยมีองค์ประกอบโครงสร้างและความสัมพันธ์ในกลุ่ม ให้สามารถดึงด้านบวกของแต่ละคนออกมาหากันให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็จะทำให้เกิดการใฝ่ดีคิดดีและทำดีร่วมกันออกมาได้อย่างเต็มที่เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน เกิดการซึมซับความดี พร้อมๆ กับมีการเรียนรู้หรือมีกระบวนการทางปัญญาเกิดขึ้นตลอดสาย ตั้งแต่เริ่มต้นระดมความคิด การสังเกตสำรวจสภาพปัญหา ปัญญาตระหนักรู้ในสถานการณ์หรือสภาพปัญหาและสืบสาวถึงสาเหตุ ปัญญาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพิ่มเติม การรวบรวมประมวลข้อมูล ปัญญาคิดวิเคราะห์คิดสังเคราะห์ ปัญญาคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การทำความคิดให้ชัดและเป็นระบบ การคิดวางแผนงาน การร่างโครงงาน ปัญญาการปรับประยุกต์จากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ปัญญาการติดตามดำเนินงานปรับปรุงงาน ปัญญาการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญญาการประเมินผลสรุปผล และปัญญาการนำเสนอ ตลอดจนสติปัญญาที่จะเท่าทันและสามารถวางใจต่อโลกธรรมทั้ง 8 ที่มาถูกต้องสัมผัสใจได้อย่างฉลาดและเป็นกุศลได้ในที่สุด
กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงงานคุณธรรมฯนี้ เป็นกระบวนการที่พัฒนาและปรับประยุกต์มาจากกระบวนการเรียนรู้วิถีพุทธ ซึ่งใช้แบบจำลองของวงรอบ 1-2-3-4 ที่หมุนเวียนรอบพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วย (1) กระบวนการกัลยาณมิตร, (2) การเปิดการเรียนรู้ภายใน (ปรโตโฆสะ สู่ สัทธาและโยนิโสมนสิการ), (3) กระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม (ตามหลักไตรสิกขา-ภาวนา4) และ (4) กระบวนการพัฒนาแบบเวียนรอบต่อเนื่อง จึงทำให้กระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาคุณธรรมของผู้เรียนเกิดขึ้นควบคู่กันไป
ดังแผนผังของแบบจำลองด้านล่างนี้