“6 ขั้นตอน กระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม“
ขั้นตอนที่ 1 การสร้างการรับรู้ และการยอมรับ
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างครูแกนนำและนักเรียนแกนนำ
ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน
ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดวิธีการบรรลุคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน
4.1 การจัดทำโครงงานคุณธรรม
4.2 การเป็นแบบอย่างที่ดีซึ่งกันและกัน
4.3 การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณธรรม
4.4 การบูรณาการคุณธรรมในการจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 5 ลงมือปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง (คุณธรรมอัตลักษณ์)
ขั้นตอนที่ 6 สร้างกลไกการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม
6.1 การวางแผน
6.2 การสร้างการมีส่วนร่วม
6.3 การส่งเสริมสนับสนุนเสริมแรง
6.4 การนิเทศติดตาม
6.5 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
6.6 การประเมินผล
6.7 การถอดบทเรียน
6.8 การประชาสัมพันธ์
จากหนังสือ “กระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ทำอย่างไรให้สำเร็จ” สามารถอ่านและดาว์นโหลดหนังสือทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ http://moralschools.org/download/
ขั้นตอนที่ ๑ การตระหนักรู้และพิจารณาเลือกหัวเรื่องหรือประเด็นปัญหา
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ที่ต้องอาศัยภาวะการตระหนักรู้ในสถานการณ์หรือสภาพปัญหาด้วยสติปัญญา หรือภาวะที่มีแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งดีงามอะไรบางอย่างที่เป็นความฝันหรืออุดมคติ ซึ่งอาจจะเกิดจากผู้เรียนเองโดยตรง หรืออาจจะเกิดจากการแนะนำหรือชี้ชวนจากครูที่ปรึกษาหรือผู้อื่นที่เป็นเงื่อนไขภายนอก มากระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักรู้หรือแรงบันดาลใจขึ้นก็ได้
การสร้างความตระหนักรู้นั้นเป็นขั้นตอนที่ยาก เพราะโดยทั่วไปสภาพการณ์ที่เป็นปัญหาต่างๆ นั้นมักจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่มักจะถูกละเลยมองข้าม หรือชาชินเคยชินจนมองไม่เห็นปัญหา หรือไม่รู้สึกว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้นอย่างไรในทำนอง “เส้นผมบังภูเขา” หรือ “ปลาอยู่ในน้ำมองไม่เห็นน้ำ” จึงต้องอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก จากกัลยาณมิตรที่กระตุ้นปัจจัยภายในใจของผู้เรียนได้ถูกตรงกับจริตนิสัย ในเงื่อนไขสถานการณ์แวดล้อม และจังหวะเวลาที่พอเหมาะพอดี จนเกิดฉันทะร่วมกันที่จะรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินการโครงงาน
กิจกรรมแนะนำสำหรับครูที่ปรึกษา
ครูที่ปรึกษาอาจวางเงื่อนไขเบื้องต้นจากการให้ผู้เรียนสำรวจและสังเกตสภาพปัญหาต่างๆ จากเพื่อนนักเรียน ปัญหาที่พบเห็นในห้องเรียน โรงเรียน วัด และชุมชน แล้วช่วยกันระดมความคิดต่อปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด แล้วมาอภิปรายกันในกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มย่อยก็ได้ (อาจทำให้สนุกในลักษณะโต้วาทีหรือยอวาทีก็ได้) เพื่อเลือกประเด็นปัญหาที่มีความสนใจ หรืออยากจะแก้ปัญหานั้นมากที่สุด เพื่อนำมาตั้งเป็นประเด็นสำหรับทำโครงงาน
คำแนะนำเพิ่มเติม (Tip)
ความดี หรือ ประเด็นที่เลือกมาทำโครงงานนั้นมีที่มา ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ ผู้เรียนเริ่มคิดจาก (๑) ปัญหาที่อยากแก้ หรือจาก (๒) สิ่งดีที่อยากทำ จากประสบการณ์พบว่าผู้เรียนที่เริ่มคิดจากความดีที่อยากทำก่อนนั้นมักยังมองแบบผิวเผิน ความคิดความเข้าใจยังไม่หยั่งรากลึก ความจริงแล้วแม้เป็นความดีที่อยากทำก็ตาม หากย้อนคิดพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าสิ่งดีที่อยากทำนั้นต้องช่วยแก้ไขหรือปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นสักอย่างหนึ่งแน่ ครูที่ปรึกษาก็ต้องช่วยกระตุ้นชี้ชวนให้ผู้เรียนได้ย้อนคิดพิจารณากลับไปที่ประเด็นปัญหาให้ได้ เช่น หากเด็กเริ่มต้นด้วยความคิดอยากปลูกต้นไม้ขึ้นมาลอยๆ ครูที่ปรึกษาอาจต้องถามให้ย้อนคิดไปว่า ทำไมหรือถึงต้องปลูกต้นไม้? ปลูกที่ไหน? เพราะอะไรจึงต้องปลูกที่นี่? ปลูกต้นไม้มันช่วยแก้ปัญหาอะไรหรือ? หรือมันช่วยทำให้อะไรดีขึ้นบ้าง? ถ้าผู้เรียนช่วยกันคิดและตอบปัญหาเหล่านี้ได้ ก็จะได้ประเด็นปัญหาที่ชัดเจนสำหรับการนำมาตั้งเป็นประเด็นทำโครงงาน
ขั้นตอนที่ ๒ การรวบรวมประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มเห็นพ้องกันและตัดสินใจเลือกประเด็นปัญหาหรือหัวเรื่องได้แล้ว และได้รับความเห็นชอบจากที่ปรึกษาแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการระดมความคิดวางแผนงานในเบื้องต้น โดยเริ่มจากการร่วมกันพิจารณาวิเคราะห์สภาพปัญหาแล้วสืบสาวไปหาสาเหตุและปัจจัยร่วมต่างๆ การวางเป้าหมายและวิธีการแก้ปัญหา แล้วประมวลสิ่งที่วิเคราะห์ได้ทำเป็นผังมโนทัศน์ ในขั้นตอนนี้จะพบว่ายังมีข้อมูลของสภาพปัญหาและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอหรือยังมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน ตัวแปรสนับสนุนและองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการวางแผนแก้ปัญหาก็ยังมีไม่ครบถ้วนหรือยังไม่ชัดเจนเป็นต้น จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้เพิ่มเติม (ซึ่งอาจจะได้มาจากการสำรวจโดยละเอียดหรือประมาณการโดยคร่าวๆ ก็ได้) จากการพบปะสนทนาขอความร่วมมือจากบุคคลต่างๆ และจากการค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือตำราและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดมาประมวลเพื่อจัดเตรียมสำหรับคิดวางแผนทำร่างโครงงานต่อไป
กิจกรรมแนะนำสำหรับครูที่ปรึกษา
– สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากการระดมความคิดในขั้นตอนที่ ๑ แล้วเลือกมา ๑ อย่างนั้น ครูที่ปรึกษาควรให้ผู้เรียนช่วยกันระดมความคิดกันต่อเพื่อตอบคำถาม ๕ ข้อต่อไปนี้
๑. “ปัญหา” ที่เลือกเป็นประเด็นเริ่มต้นทำโครงงานคืออะไร? ระบุสภาพปัญหาให้ชัดเจน(ปัญหา มักเป็นสภาพการณ์ที่ผิดปกติ ไม่ดี ไม่น่าพอใจ หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมที่ผิดศีลธรรม/กฎระเบียบ หรือผิดจากมารยาทที่ถูกต้อง เป็นต้น)
๒. ปัญหานั้นมี “สาเหตุ” มาจากอะไร? วิเคราะห์ร่วมกันต่อว่าอะไรเป็นสาเหตุต้นตอที่แท้จริง อะไรเป็นปัจจัยร่วม? อะไรเป็นปัจจัยแวดล้อมภายนอก อะไรเป็นปัจจัยภายใน
๓. “เป้าหมาย” ของการแก้ปัญหาคืออะไร? ควรให้ช่วยกันเริ่มคิดจากการวางเป้าหมายระยะสั้น-ระยะกลางก่อน โดยเริ่มจากการช่วยกันระบุเป้าหมายเชิงปริมาณว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือสิ่งของแวดล้อมใดบ้าง? จำนวนหรือปริมาณเท่าใด? มีขอบเขตระยะเวลา –พื้นที่การทำงานเท่าใด? แล้วช่วยกันตั้งเป้าหมายเชิงคุณภาพว่าต้องการให้กลุ่มเป้าหมายเกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์อย่างไรบ้าง? ให้เกิดการพัฒนาจิตใจ หรือพัฒนาปัญญาอย่างไรบ้าง? หรือให้เกิดสิ่งของ/สภาพแวดล้อมที่พึงประสงค์อย่างไรบ้าง?
๔. “ทางแก้” หรือวิธีการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นมีแผนงานอย่างไรบ้าง? ให้ช่วยกันวางแผนการทำงานที่จะสามารถทำได้ทั้ง ๒ ระยะ ทั้งเฉพาะหน้าในระยะเวลา ๓ เดือนในช่วงเทอม ๑ และระยะที่ ๒ ในช่วงเทอม๒ อีกประมาณ ๓ – ๔ เดือน
๕. การดำเนินงานโครงงานดังกล่าวนั้นมีการใช้ “หลักธรรมและแนวพระราชดำริ”อะไรบ้าง?* (หากผู้เรียนยังจำหัวข้อธรรมะที่แน่นอนไม่ได้ หรือจำพระราชดำรัสที่ถูกต้องไม่ได้ ก็ให้ใช้ถ้อยคำง่ายๆ ที่อธิบายให้เข้าใจได้แทนไปก่อน แล้วไปค้นคว้าเพิ่มเติมต่อในภายหลังก็ได้)
– เมื่อตอบคำถาม ๕ ข้อนี้ได้แล้ว ก็ให้ประมวลสรุปนำเสนอในรูปแบบของผังมโนทัศน์ ที่มีหัวข้อดังนี้
๐ ชื่อโครงงาน, ชื่อกลุ่ม, ชื่อโรงเรียน
๐ วาดภาพประกอบโครงงาน ที่แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์
๐ ปัญหาที่เลือกทำโครงงาน
๐ สาเหตุของปัญหา
๐ เป้าหมาย (เชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ)
๐ ทางแก้ (วิธีการหรือกิจกรรมที่เป็นขั้นตอนเรียงข้อ)
๐ หลักธรรม/พระราชดำริ/พระราชดำรัส ที่นำมาใช้
– สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษานั้น เน้นแค่ให้เด็กสามารถคิดการใหญ่ (Think Big) คิดเป็นขั้นตอนได้ ก็เพียงพอแล้ว ส่วนการคิดวิเคราะห์อย่างนักเรียนมัธยมนั้นถือว่าเป็นการต่อยอด เวลาตั้งคำถามสามารถอนุโลมให้ใช้คำถาม ๕ คำถามเหมือนของระดับมัธยมก็ได้ แต่เด็กนักเรียนจะวิเคราะห์ได้ไม่ลึกซึ้งนัก และจะดูเคร่งเครียดเกินไป ครูที่ปรึกษา จำต้องกระตุ้นความคิดด้วยคำถามที่หลากหลาย และย่อยประเด็นลงไปให้มากขึ้น และหากเด็กสนใจในประเด็น “สิ่งดีที่จะทำ” มากกว่า “ปัญหาที่จะแก้” ก็ไม่เป็นไร ก็ให้ขยายสิ่งดีที่จะทำให้เป็นโครงการใหญ่ตั้งกลุ่มเป้าหมายให้ชัดและคิดขั้นตอนของการทำงานออกมาได้ ก็เพียงพอแล้ว
ตัวอย่างประเด็นคำถามกระตุ้นความคิดนักเรียนระดับประถมศึกษา
- ถ้าจะชวนกันให้ทำความดีนั้นหลายๆคนจะทำได้หรือไม่?
- จะวางกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร? จำนวนกี่คน?
- จะชักชวนหรือประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง?
- จะมีวิธีการหรือกิจกรรมดำเนินการโครงงานนี้อย่างไรบ้าง?
- จะมีวิธีใดที่จะรู้ว่าแต่ละคนนั้นทำความดีนั้นจริงหรือไม่?
- ถ้าเขาทำจริงจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาทำมากหรือทำน้อย?
- ถ้ามีคนที่ทำความดีมากๆจะให้อะไรเขาตอบแทน?
- ต้องการให้เกิดผลดีจากการทำโครงงานนี้อย่างไรบ้าง?
- จะตั้งชื่อโครงงาน, ชื่อกลุ่มว่าอะไร?
- อื่นๆ เช่นคุณธรรมใดที่จะนำมาใช้ในการทำความดีนี้
จากนั้นจึงให้ประมวลข้อมูลเป็นผังมโนทัศน์ที่มีหัวข้อดังต่อไปนี้
๐ ชื่อโครงงาน, ชื่อกลุ่ม, ชื่อโรงเรียน
๐ วาดภาพประกอบโครงงาน ที่แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์
๐ ประเด็นสิ่งดีที่อยากทำ / ประเด็นปัญหา(และสาเหตุของปัญหา) ที่เลือกทำโครงงาน
๐ เป้าหมาย (เชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ)
๐ วิธีการ (วิธีการหรือกิจกรรมที่เป็นขั้นตอนเรียงข้อ)
๐ หลักธรรม/พระราชดำริ ที่นำมาใช้
ขั้นตอนที่ ๓ การจัดทำร่างโครงงาน
ขั้นตอนนี้เป็นการคิดพิจารณาวางแผนงานในรายละเอียดและภาพรวมทั้งหมด โดยนำข้อมูลที่รวบรวมและประมวลได้ทั้งหมดนั้นมาเรียบเรียงและจัดทำเป็นเอกสารร่างโครงงาน ที่มีหัวข้อต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ อย่างน้อย ๑๓ หัวข้อ (จำนวนหน้า ๑๐ – ๒๐ หน้ากระดาษขนาด A4) ดังนี้
(๑) ชื่อโครงงาน (ชื่อโครงงานเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อควรสั้นกระชับสื่อความให้เข้าใจได้ง่ายว่าโครงงานเกี่ยวกับเรื่องอะไร ทำให้จดจำได้ง่าย)
(๒) กลุ่มเยาวชนผู้รับผิดชอบโครงงาน และสถานศึกษา
แสดงชื่อกลุ่ม รายชื่อสมาชิกในกลุ่ม ตำแหน่ง ชั้นเรียน, ชื่อสถานศึกษา ที่ตั้ง โทรศัพท์ โทรสาร E-mail และเวบไซต์สถานศึกษา(ถ้ามี)
(๓) ที่ปรึกษาโครงงาน
ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง โทรศัพท์และ E-mail (กรณีเป็นพระภิกษุให้ระบุฉายาและชื่อวัดด้วย)
(๔) วัตถุประสงค์ (ไม่ควรเกิน ๕ ข้อ)
(๕) สถานที่และกำหนดระยะเวลาดำเนินการ
พื้นที่ที่เลือกดำเนินการจะเป็นภายในหรือภายนอกสถานศึกษาก็ได้ ส่วนกำหนดระยะเวลาดำเนินการนั้น แบ่งเป็น ๒ ระยะ ระยะที่ ๑ ควรอยู่ในช่วงเดือน พฤษภาคม–สิงหาคม และระยะที่ ๒ ในช่วงเดือน ตุลาคม– มกราคม
(๖) ผังมโนทัศน์
สรุปภาพรวมของร่างโครงงานทั้งหมดเป็นผังมโนทัศน์ ใน ๑ หน้ากระดาษ
(๗) สาระสำคัญของโครงงาน (คำอธิบายสาระสำคัญของโครงงานโดยย่อ ๕ – ๑๐ บรรทัด)
(๘) การศึกษาวิเคราะห์
(๘.๑) ปัญหาและสาเหตุ (ประมวลข้อมูลสภาพปัญหา แล้ววิเคราะห์สืบสาวหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เพื่อให้เห็นที่มาและความสำคัญของโครงงาน)
(๘.๒) เป้าหมายและทางแก้ (วางเป้าหมายของการแก้ปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ)
(๘.๓) หลักการและหลักธรรมที่นำมาใช้ (แสดงหลักธรรมและแนวพระราชดำริ หรือหลักวิชาการต่างๆ ที่นำมาใช้ พร้อมอธิบายความหมายโดยย่อ แล้วอธิบายเชื่อมโยงกับการดำเนินการโครงงาน อย่างสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผล)
(๙) วิธีการดำเนินงาน (แสดงวิธีการดำเนินงานเป็นข้อๆ หรือเป็นแผนผังที่มีคำอธิบายที่ชัดเจน)
(๑๐) งบประมาณและแหล่งที่มาของงบประมาณ (แสดงงบประมาณโครงงานและแหล่งที่มา หากมีการระดมทุนเพิ่ม ให้บอกแผนงานหรือวิธีการระดมทุนด้วย)
(๑๑) ผลที่คาดว่าจะได้รับ (ผลโดยตรงและผลกระทบที่ต่อเนื่องออกไป)
(๑๒) ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ปรึกษา
(๑๓) ความคิดเห็นและความรู้สึกของประธานกลุ่มเยาวชนผู้รับผิดชอบโครงงาน
คำแนะนำเพิ่มเติม (Tip)
ในการจัดทำร่างโครงงานที่ดีนั้น ในหัวข้อการศึกษาวิเคราะห์เป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ถึงปัญหาและสาเหตุ ควรมีข้อมูลสถิติ หรือสภาพการณ์ที่ได้มาจากการสำรวจสังเกตจริง มาประกอบอ้างอิง จะทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ยิ่งถ้าเป็นข้อมูลสถิติจากพื้นที่เป้าหมายจริงๆ ก็จะทำให้คะแนนการประเมินความเป็นไปได้ของร่างโครงงานดีขึ้น
ขั้นตอนที่ ๔ การดำเนินการโครงงาน
การดำเนินการโครงงานแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ ดังนี้
– ระยะที่ ๑ บุกเบิก–ทดลอง ช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม
– ระยะที่ ๒ ตอกย้ำ–ขยายผล ช่วงเดือน ตุลาคม – มกราคม
ขั้นตอนนี้เป็นการนำร่างโครงงานมาปฏิบัติจริงไปตามลำดับขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน ซึ่งจะมีทั้งในส่วนที่แบ่งงานและดำเนินงานกันในระหว่างสมาชิกในกลุ่มผู้รับผิดชอบโครงงาน และงานในส่วนที่สร้างการมีส่วนร่วมให้กับเพื่อนนักเรียนอื่นหรือบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาช่วยทำงานในด้านต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมรณรงค์ขยายการมีส่วนร่วมออกไปสู่ชุมชน การดำเนินงานในช่วงนี้อาจมีข้อมูลย้อนกลับมาที่เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งทราบ หรือคลาดเคลื่อนไปจากที่คาดการณ์ไว้ หรือเกิดสถานการณ์ที่ยุ่งยากเป็นอุปสรรคข้อขัดข้องหรือข้อขัดแย้งให้ต้องเผชิญหน้าและแก้ปัญหาอยู่เสมอๆ อันอาจจะนำมาซึ่งความอ่อนล้า ความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ ได้บ่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแบบฝึกหัดสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนาคุณธรรม ของผู้รับผิดชอบโครงงานและผู้มาช่วยงานทั้งสิ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการติดตาม สนับสนุน ดูแล ให้ความช่วยเหลือทั้งทางทรัพยากรภายนอกและทางจิตใจ จากคณะที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลาดำเนินการโครงงานทั้ง ๒ ช่วง
ผู้รับผิดชอบโครงงานพึงระลึกไว้ว่า การทำงานจริงอาจมีหลายสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์และระบุไว้ในร่างโครงงาน และหลายครั้งอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนงานไปจากเดิม ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องเข้าใจว่าเพราะอะไร สามารถอธิบายได้ถึงเหตุผลของการที่ผิดพลาดไปจากแผนงานที่วางไว้ได้ อย่าทำงานเพียงเพื่อให้ได้ผลตามร่างโครงงานที่วางแผนไว้เท่านั้น แต่ทำงานเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาคุณธรรมของตนเองและทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ทำแล้วคุณธรรมความดีต้องเพิ่มขึ้นและควรมีความสุขจากการทำความดีนั้น ทำโครงงานและความดี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่การแข่งขันเพื่อล่ารางวัล
คำแนะนำเพิ่มเติม (Tip)
ระยะเวลาการทำงานจริง ที่ลงแรงทำงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ควรน้อยกว่า ๒ เดือน จึงจะทำให้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานคุณธรรมได้ผลเต็มที่
ขั้นตอนที่ ๕ การสรุปประเมินผลและเขียนรายงาน
จากการดำเนินงาน ในขั้นตอนที่ ๔ นั้นให้กลุ่มเยาวชนได้ทำการประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงานทั้ง ๒ ระยะ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – มกราคม เพื่อนำมาใช้จัดทำเป็น เอกสารและสื่อการนำเสนอโครงงาน ๕ หรือ ๖ รายการ ดังนี้
(๑) รายงานโครงงาน (๒๐–๕๐ หน้ากระดาษขนาด A4 ไม่รวมปก)
(๒) สรุปย่อโครงงานใน๑หน้ากระดาษ (๑ หน้ากระดาษขนาด A4)
(๓) แผ่นพับนำเสนอโครงงาน (๑ แผ่นกระดาษขนาด A4 หน้า-หลัง)
(๔) สื่อ Presentation เช่น Powerpoint หรือ VCD (เวลาไม่เกิน ๗ นาที)
(๕) แผ่นป้ายนิทรรศการโครงงาน
(๖) เวบเพจ นำเสนอโครงงานผ่านทางอินเตอร์เนต (ลงทะเบียนที่ www.moralproject.net)
รายการที่ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้บันทึกไฟล์ข้อมูลรวมลงในแผ่น CD แผ่นเดียว (ถ้ารายการที่ (๔) เป็น VCD ให้แยกเป็นอีกหนึ่งแผ่น) ที่หน้าแผ่น CD ให้เขียนระบุชื่อโครงงาน สถานศึกษา และสพท. และแสดงรายการไฟล์รายงาน, ไฟล์สรุปย่อ, ไฟล์แผ่นพับ และไฟล์นำเสนอให้ครบถ้วนถูกต้อง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากภาคผนวกข)
ขั้นตอนที่ ๖ การนำเสนอโครงงาน
การนำเสนอโครงงาน เป็นทักษะที่สำคัญของผู้รับผิดชอบโครงงานทุกคนที่จะต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ทำการสื่อสารและถ่ายทอดความดีงามจากโครงงานของตนเองออกสู่การรับรู้ของบุคคลอื่นและสาธารณะ สมาชิกทุกคนในกลุ่มควรทำความเข้าใจในรายละเอียดและภาพรวมของโครงงานทั้งหมด แล้วซักซ้อมการนำเสนอในประเด็นสำคัญๆ ไว้เพื่อเตรียมตัวสำหรับการนำเสนอบนเวที การสัมภาษณ์ซักถาม และการนำเสนอหน้าแผ่นป้ายนิทรรศการโครงงาน ให้คณะกรรมการและผู้มาชมนิทรรรศการโครงงานสามารถเข้าใจได้ในระยะเวลาอันจำกัดอ