ความหมายของคุณธรรม
ตามราชบัณฑิตยสถาน (2525: 187) ได้ให้ความหมายของคุณธรรมไว้ว่า “เป็นสภาพคุณงามความดี”
คาร์เตอร์ วี. กู๊ด (Carter V. Good. 1973 : 641) ให้ความหมายคุณธรรมไว้ว่า คุณธรรม คือ คุณลักษณะที่ดีงาม หรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และการที่บุคคลได้กระทำตามความคิดและมาตรฐานของสังคมในทางความประพฤติและจริยธรรม
การเป็นครูที่ดีนั้น จึงไม่ใช่มีความรู้อย่างเดียว แต่จะต้องมีคุณธรรมควบคู่ไปด้วย
หลักธรรมสำหรับครู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ทรงพระราชทานหลักคุณธรรมสำหรับคนไทยในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ท้องสนามหลวง วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2525 ทั้งนี้เพื่อยึดถือปฏิบัติ มีอยู่ 4 ประการ คือ
ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทนอดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจ สุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความสุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
คุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ร่มเย็น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นครู จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น