หลักการเขียนสภาพความสำคัญของปัญหา “การเขียนความสาคัญของปัญหา เป็นส่วนที่เกริ่นนำให้ผู้อ่านเริ่มเข้าใจ ในปัญหาที่จะทำการศึกษาว่า ปัญหาคืออะไร มีความสำคัญในแง่มุมไหน หรือประเด็นไหนบ้างผู้อ่านสามารถเห็นความต่อเนื่องและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรือจะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งจำเป็นที่จะต้องศึกษา เพื่อหาแนวทางหนการแก้ไขปัญหานั้น”
หลักการเขียนสภาพความสำคัญของปัญหา
1. เขียนให้ตรงปัญหา เน้นปัญหาให้ถูกจุด ไม่เขียนยืดยาว อ้อมค้อมวกวน เจาะประเด็นให้ทราบว่าปัญหาคืออะไร อย่างชัดเจนและกระชับ
2. เขียนให้ครอบคลุมประเด็นความสำคัญปัญหา ที่จะศึกษาตามหัวข้อเรื่องทั้งหมด ให้ครบตามจำนวนประเด็นปัญหาที่ระบุไว้ในหัวข้อวิจัย
3. ไม่ควรเขียนความสำคัญของปัญหาสั้นเกินไป จนจับประเด็นที่จะศึกษาไม่ได้ ควรเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาให้ละเอียดพอสมควร
4. ไม่ควรนำตัวเลข ตารางยาวๆ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมากมาใส่อ้างอิงในความสำคัญของปัญหานี้มากเกินไป เลือกเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องจริงๆ หรือเลือกเฉพาะตัวเลขที่สำคัญๆนำมาสรุปเป็นประโยคให้กลมกลืนกับเนื้อเรื่อง
5. การเขียนในส่วนนี้ ถ้านำเอาผลงานวิจัย ตัวเลขข้อมูล หรือแนวคิด ทฤษฏี ของผู้อื่นมากล่าวไว้ จะต้องอ้างอิงเอกสารเหล่านั้นประกอบด้วยเสมอในการอ้างอิง
6. การเขียนแต่ละหน้า ควรแบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่ให้เหมาะสมด้วย
7. ต้องเขียนเนื้อเรื่องให้มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อขึ้นหน้าใหม่ทุกครั้ง เนื้อเรื่องในส่วนย่อหน้าใหม่ต้องมีส่วนเชื่อมโยงกับส่วนท้ายของย่อหน้าก่อนด้วย เมื่อขึ้นย่อหน้าใหม่แต่ละย่อหน้า
8. ในส่วนท้ายของความสำคัญของปัญหา ต้องเขียนขมวดท้าย หรือสรุปเพื่อให้มีส่วนเชื่อมโยงกับหัวข้อในวัตถุประสงค์ของการศึกษาต่อไปด้วยการสรุปท้ายนี้อาจเขียนได้หลายลักษณะ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเรื่อง หรือปัญหาที่จะวิจัย เช่น อาจเขียนในทำนองที่สรุปว่า ปัญหานี้ ทฤษฏีนี้ วิธีการนี้ ยังไม่มีผู้ใดเคยศึกษามาก่อน หรือมีการศึกษาไว้น้อยมาก จึงน่าจะศึกษาเรื่องนี้หรืออาจเขียนในทำนองว่า การศึกษาเรื่องนี้จะมีประโยชน์อย่างไรนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เป็นต้น