หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2561 จัดทำขึ้นตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้โรงเรียน ซึ่งจัดการศึกษาระดับปฐมวัย โดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับเด็กและสภาพท้องถิ่น ตลอดจนถึงให้มีความสอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อที่จะกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา เป็นคนดี มีวินัย สำนึกความเป็นไทย และมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศไทยในอนาคต อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานตามจุดหมายหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560
ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
“การศึกษาปฐมวัย เป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง ๖ ปีบริบูรณ์ อย่างเป็นองค์รวม บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคนให้เต็มตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”
วิสัยทัศน์
“ภายในปี พุทธศักราช ๒๕๖๓ เด็กปฐมวัยโรงเรียนอนุบาลโกรกพระ (ประชาชนูทิศ) มุ่งพัฒนาเด็กทุกคนให้ได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีความสุขและเหมาะสมตามวัย มีทักษะชีวิต และปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นคนดี มีวินัย และสำนึกความเป็นไทย โดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา พ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก”
ภารกิจ/พันธกิจ
1. ออกแบบหลักสูตรสถานศึกษา และสาระการเรียนรู้บนพื้นฐานของทฤษฎีพัฒนาการ แนวคิด ทางการศึกษาปฐมวัย หลักการอบรมเลี้ยงดู และกระบวนการทำงานของสมองด้านการคิดและการจัดการ
2. ปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาให้มีความทันสมัยตามความก้าวหน้าในศาสตร์ การศึกษาปฐมวัย
3. จัดทำแผนการจัดประสบการณ์ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ
4. จัดระบบการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน การดูแลให้ความช่วยเหลือ จัดกิจกรรม เสริมหลักสูตร และการสร้างรอยเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาปฐมวัยกับประถมศึกษาปีที่ ๑
5. จัดระบบสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่สะท้อนการจัดเตรียมสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อ กระบวนการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ และจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เหมาะสมกับวัย และมีการพักผ่อนเพียงพอ
6. จัดระบบการคัดเลือกครู การส่งเสริมและพัฒนาครู บุคลากร พ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อให้ สามารถจัดการศึกษาได้ตามปรัชญา วิสัยทัศน์ มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ และสภาพที่พึ่งประสงค์
7. จัดระบบการประเมินพัฒนาการ ผลลัพธ์การเรียนรู้เพื่อนำผลไปปรับปรุงและพัฒนากระบวนการ เรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
8. ประสานความร่วมมือในการพัฒนาเด็กระหว่างสถานศึกษากับพ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
9. จัดระบบการประเมินหลักสูตร และพัฒนาประสิทธิภาพของหลักสูตรสถานศึกษาให้สามารถจัดการศึกษาได้ตามปรัชญา วิสัยทัศน์ มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ และสภาพที่พึงประสงค์เพื่อส่งผลต่อระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
10. การจัดทำโครงการ/งบประมาณสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และกิจกรรมเสริมหลักสูตร
ดาวน์โหลดตัวอย่างหลักสูตรปฐมวัย โรงเรียนต่างๆ