ความหมายและประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์
- สามารถสรุปความหมายของโครงงานวิทยาศาสตร์ได้
- บอกประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์ได้
- อธิบายความสัมพันธ์ของโครงงานวิทยาศาสตร์ ทั้ง 4 ประเภทได้
ความหมายของโครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานวิทยาศาสตร์ หมายถึง การทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
1. ผู้เรียนเป็นผู้ริเริ่มและเลือกเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองตามความสนใจ และตามระดับความรู้ความสามารถ
2. เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. เป็นกิจกรรมที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบปัญหาที่สงสัย
4. งานวิจัยเล็ก ๆ ของผู้เรียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ หรือการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยของผู้เรียนโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
5. ผู้เรียนเป็นผู้วางแผนในการค้นคว้าเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการปฏิบัติการทดลองหรือประดิษฐ์คิดค้นรวมทั้งแปรผลสรุปผล และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้า ด้วยตนเอง โดยมีครูหรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ให้คำปรึกษา
กล่าวโดยสรุปได้ว่า โครงงานวิทยาศาสตร์ หมายถึง การศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ภายใต้การให้คำปรึกษาและการดูแลของครูหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
ผังกราฟิกความหมายของโครงงานวิทยาศาสตร์
ประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์
ในการแบ่งประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์ สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. แบ่งตามลักษณะของกิจกรรม
การแบ่งประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์ ตามลักษณะของกิจกรรมแบ่งได้ 4 ประเภทคือ
1. โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการสำรวจ
2. โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลอง
3. โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์
4. โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททฤษฎี
2. แบ่งตามแหล่งที่มา
การแบ่งประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์ ตามแหล่งที่มาแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. โครงงานวิทยาศาสตร์ตามสาระการเรียนรู้ เช่น โครงงานทางเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2. โครงงานวิทยาศาสตร์ตามความสนใจ เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์การเกษตร โดยลักษณะของโครงงานจะเกี่ยวกับเกษตรทั้งสิ้น
3. แบ่งโดยใช้แบบแผนของโครงงานเป็นเกณฑ์
การใช้แบบแผน หรือรูปแบบของโครงงานเป็นเกณฑ์ในการกำหนด แบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ
1. โครงงานที่ไม่เป็นแบบแผน เป็นโครงงานที่ไม่จำเป็นต้องเขียนโครงงานเพียงแต่ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ อาจเป็นใบงาน หรือชิ้นงานก็ได้
2. โครงงานตามแบบแผน เป็นโครงงานที่จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร มีระเบียบวิธีจัดทำเป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการสำรวจ
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการสำรวจ
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการสำรวจ เป็นโครงงานที่ต้องศึกษาติดตามรวบรวมข้อมูลเพื่อนำข้อมูลมาเสนอใหม่ด้วยตนเองโดยจะมีวิธีการสำรวจ และรวบรวมข้อมูลได้หลายแนวทาง ดังนี้
1. สำรวจข้อมูลภาคสนาม |
เป็นการสำรวจข้อมูลในภาคสนาม ทั้งข้อมูลที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น การสำรวจชนิดของพืชหรือสัตว์ในท้องถิ่น เป็นต้น
2. สำรวจและรวบรวมข้อมูลจากธรรมชาติมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ |
เป็นการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ เช่น การสำรวจความเป็นกรดเบสของแหล่งน้ำ เป็นต้น
3. สำรวจและรวบรวมข้อมูลโดยจำลองแบบ |
เป็นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลโดยจำลองแบบจากธรรมชาติ เช่น การศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของหนอนต้นดอกรัก เป็นต้น
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลอง
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลอง
เป็นโครงงานที่ต้องมีการออกแบบการทดลองเพื่อหาคำตอบของปัญหานั้น อาจเป็นปัญหาที่เคยเรียนในชั้นเรียน ซึ่งอาจมองในแง่ว่าเป็นการพิสูจน์ให้เห็นจริง ด้วยตนเอง แต่การทดลองควรคิดวิธีที่ต่างไปจากที่เคยทำในชั้นเรียน
ตัวอย่างโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลอง เช่น
– การศึกษาอิทธิพลของแสงสีต่าง ๆ ที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชบางชนิด
– การศึกษาการเจริญเติบโตของพืชในสนามแม่เหล็ก
– การศึกษาอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชายในสัตว์ตัวเมีย
– การทดลองใช้ผักตบชวาในการกำจัดน้ำเสีย
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลอง มีขั้นตอนสำคัญสรุปได้ดังนี้
- กำหนดปัญหา
- ตั้งสมมติฐาน
- ออกแบบการทดลอง
- ดำเนินการทดลอง
- รวบรวมข้อมูล
- แปลความหมายข้อมูลและสรุปผล
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นโครงงานที่มีการพัฒนาหรือประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์โดยอาศัยความรู้หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ อาจเป็นการประดิษฐ์ สิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน หรือการปรับปรุงอุปกรณ์ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้วให้ใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนั้นอาจเป็นการเสนอ หรือสร้างแบบจำลองทางความคิดเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็ได้ ตัวอย่าง เช่น เครื่องกรองน้ำอย่างง่าย เครื่องกรองคราบน้ำมัน การประดิษฐ์เครื่องร่อนเครื่องเตือนอัคคีภัยระบบความดันแยก รูปแบบการจัดการจราจรบริเวณทาง บ้านยุคนิวเคลียร์ เป็นต้น
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททฤษฎี
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททฤษฎี
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททฤษฎี เป็นโครงงานที่นำเสนอทฤษฎี หลักการหรือแนวคิดใหม่ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของสูตร สมการ คำอธิบาย โดยผู้จัดทำโครงงาน ตั้งกติกา หรือข้อตกลงขึ้นมาแล้วนำเสนอทฤษฎี หลักการแนวคิด จิตนาการของตนเองตามกติกา หรือข้อตกลงนั้นเป็นการจัดทำโดยการขยายทฤษฎี หรือแนวคิดเดิม โครงงานประเภทนี้เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือ โครงงานคณิตศาสตร์ก็ได้ เช่น โครงงาน เรื่อง “ กำเนิดของทวีปและมหาสมุทร ” เป็นการสร้างแบบจำลองทฤษฎี อธิบายการเกิดของทวีป และมหาสมุทรว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่แตกต่างไปจากแนวความคิดเดิมที่เคยมีผู้เสนอไว้ก่อนแล้ว หรือ โครงงานทฤษฎีของจำนวน เป็นต้น
ตัวอย่างโครงงานประเภททฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์
- โครงงานประเภททฤษฎีของ ไอน์สไตน์
- โครงงานประเภททฤษฎีของ เซอร์ ไอแซกนิวตัน
- โครงงานประเภททฤษฎีของ ชาลส์ ดาร์วิน
ความสัมพันธ์ของโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้ง 4 ประเภท
โครงงานวิทยาศาสตร์ทั้ง 4 ประเภท ไก้แก่ โครงงานประเภทสำรวจ โครงงานประเภททดลอง โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ และโครงงานประเภททฤษฎี มีความเชื่อมโยงกันเหมือนกับรูปสี่เหลี่ยมซึ่งประกอบด้วยด้านทั้ง 4 ด้านเพียงแต่โครงงานแต่ละประเภทมีจุดประสงค์และวิธีการทำที่แตกต่างกัน แต่เมื่อทำโครงงานครบทั้ง 4 ประเภทก็จะกลายเป็นโครงงานที่สมบูรณ์เหมือนสีเหลี่ยมที่ต้องมีด้านทั้ง 4 ด้านมารวมกันซึ่งกลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่สมบูรณ์
ตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างโครงงานวิทยาศาสตร์ ทั้ง 4 ประเภท
ประเภทของโครงงาน | ตัวอย่างโครงงาน |
1. โครงงานประเภทสำรวจ | สำรวจพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการห้ามเลือด |
2. โครงงานประเภททดลอง | นำพืชสมุนไพรในข้อ 1 มาทดลองหาประสิทธิภาพ |
3. โครงงานประเภทสิ่ประดิษฐ์ | นำผลการทดลองในข้อ 2 มาประดิษฐ์เป็นยาห้ามเลือด |
4. โครงงานประเภททฤษฎี | ทบทวนผลสรุปของการทดลองจากข้อ 3 เพื่อยืนยันแนวคิดหรือปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ |
การทำโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างง่ายผู้ทำโครงงานควรเริ่มต้นจากการทำโครงงานประเภทการสำรวจ จากนั้นก็ทำโครงงานประเภทการทดลองแล้ว นำผลการทดลองนั้นมาสร้างสิ่งประดิษฐ์ และสุดท้าย คือ การทบทวนแนวคิดทฤษฎีของเรื่องนั้น เพื่อตรวจสอบว่าองค์ความรู้นั้นถูกต้องคงทนต่อการพิสูจน์หรือไม่
[…] […]