แนวข้อสอบครู วิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป์
ความหมายและลักษณะของงานช่าง
งานช่าง เป็นงานที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เป็นส่วนใหญ่ การมีความรู้ความเข้าใจ สามารถปฏิบัติงานตามทักษะกระบวนการทางช่างอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องการเลือกและใช้ การดูแลบำรุงรักษา การซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไข การสร้างหรือผลิตชิ้นงาน วัสดุสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน รวมทั้งการประดิษฐ์นวัตกรรมในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ช่าง หมายถึง ผู้ชำนาญในการฝีมือ หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
งานช่าง หมายถึง งานที่ใช้เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับการสร้าง การผลิต การซ่อมแซมบำรุงรักษา การแก้ไขดัดแปลงสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. งานผลิต ทำหน้าที่เป็นผู้สร้างหรือผลิต ประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ วัสดุสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ ในบ้าน
2. งานบริการ ทำหน้าที่เป็นผู้ติดตั้ง ซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือแก้ไขดัดแปลงเครื่องใช้ในบ้าน ให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น
คุณค่าและประโยชน์ของงานช่าง
คุณค่าและประโยชน์งานช่างต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีดังนี้
1. ช่วยให้เกิดการพัฒนาความรู้พื้นฐานและทักษะทางงานช่าง เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อ หรือประกอบอาชีพ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมโลหะ เป็นต้น
2. ช่วยส่งเสริมให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและการปรับปรุง ซ่อมแซม ดัดแปลง แก้ไขของเก่าให้ใช้งานได้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
3. ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ปฏิบัติงานด้วยความคล่องตัว และมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพช่าง
4. ช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อม โดยการแปรสภาพสิ่งของที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งของใหม่ ๆ
5. มีส่วนช่วยส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยเฉพาะการปลูกฝังให้เป็นผู้มีความอดทน ขยันขันแข็ง มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมต่อไป
ประเภทของงานช่าง
งานออกแบบเขียนแบบ
งานเขียนแบบ เป็นการนำความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการ มาเขียนแสดงออกเป็นรูปแบบด้วยการใช้เส้น สัญลักษณ์ หรือรูปภาพ เรียกว่าแบบ ซึ่งเป็นภาษาสากล สามารถนำไปสร้างหรือผลิตชิ้นงานได้ เช่น แบบบ้าน แบบอาคาร แบบเครื่องยนต์ แบบผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ฯลฯ ซึ่งงานเขียนแบบจึงเป็นหัวใจของงานช่างทุกสาขา จำแนกตามลักษณะของงานได้ 2 ประเภท คือ
1. งานเขียนแบบทางสถาปัตยกรรม เช่น อาคารที่พักอาศัย อาคารสาธารณะ โบราณสถาน ฯลฯ
2. งานเขียนแบบทางวิศวกรรม เช่น แบบไฟฟ้า แบบงานโลหะ แบบเครื่องยนต์ ฯลฯ
งานไม้
งานไม้ เป็นพื้นฐานของงานช่างทั่ว ๆ ไป ซึ่งต้องอาศัยทักษะกระบวนการช่าง ในการสร้างหรือผลิตและปรับปรุงชิ้นงานที่ทำด้วยไม้ ตามรูปแบบรายการที่กำหนดไว้ ได้อย่าง มีคุณค่า เหมาะสม มีประโยชน์ใช้สอยและสวยงาม รู้จักซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพใช้งานเป็นอย่างดี งานช่างไม้จำแนกตามลักษณะงานได้ 3 ประเภท คือ
1. งานไม้ก่อสร้าง เช่น งานไม้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ งานไม้ทั่วไป
2. งานไม้ครุภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ และตกแต่งภายใน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เคาน์เตอร์ ฯลฯ
3. งานไม้แกะสลัก เป็นงานไม้ที่ต้องใช้ความประณีตด้วยการแกะสลัก เช่น ประตู หน้าต่าง ภาพประดับผนัง ฯลฯ
งานปูน
งานปูน เป็นงานช่างที่ต้องอาศัยทักษะและกระบวนการทางช่าง เพื่อสร้างหรือผลิตและปรับปรุงชิ้นงานให้เสร็จภายในกำหนดเวลาการแข็งตัวของปูนซีเมนต์และวัสดุผสม เช่น งานปูนโครงสร้าง งานก่ออิฐฉาบปูน งานปั้นลวดลายปูน งานซ่อมแซมรอยแตกร้าวของผนังอาคาร งานปูนมีความสำคัญกับการก่อสร้างเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้งานต่าง ๆ มีความคงทนยาวนาน งานปูนจำแนกตามลักษณะของงานได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. งานปูนโครงสร้าง เป็นส่วนที่ใช้รองรับน้ำหนักของอาคาร เช่น ฐานราก เสา คาน ตง พื้น ฯลฯ
2. งานปูนประณีต เป็นงานละเอียดใช้ในการตกแต่งทำลวดลายต่าง ๆ เช่น งานทำบัว งานทำลวดลายต่าง ๆ
3. งานปูนเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง หินขัด ฯลฯ
4. งานปูนสุขภัณฑ์ เช่น งานปูกระเบื้องห้องน้ำ ห้องครัว และงานระบบท่อน้ำ เป็นต้น
งานโลหะ
งานโลหะ เป็นงานช่างที่ต้องอาศัยทักษะและกระบวนการทางช่างในการใช้เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ ความละเอียดในการสร้างหรือผลิต และปรับปรุงชิ้นงานที่ทำด้วยโลหะต่าง ๆ ด้วยการเชื่อม การหล่อ การกลึง การเคาะขึ้นรูป หรือให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถจำแนกได้ 6 ประเภท ดังนี้
1. งานโลหะแผ่น เช่น แผ่นมุงหลังคา เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ตู้เก็บของ โต๊ะทำงาน เป็นต้น
2. งานเคาะขึ้นรูปโลหะ เช่น ตัวถังรถยนต์ ตัวถังจักรยานยนต์ เป็นต้น
3. งานเหล็กดัดขึ้นรูป เช่น โครงหลังคา เหล็กดัดประตูหน้าต่าง เป็นต้น
4. งานเชื่อมโลหะ เช่น เชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า เชื่อมโลหะด้วยแก๊ส เป็นต้น
5. งานหล่อโลหะ เช่น แม่พิมพ์งานต่าง ๆ ชิ้นส่วนเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น
6. งานผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เช่น โครงฝ้าเพดาน วงกบประตูหน้าต่าง มุ้งลวด เป็นต้น
งานไฟฟ้า
งานไฟฟ้า เป็นงานช่างที่ต้องใช้ความรู้ ทักษะกระบวนการทางช่าง ในการใช้เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ด้วยความปลอดภัยในการติดตั้ง และซ่อมแซม เช่น การเดินสายไฟฟ้าภายในบ้าน การซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า การประดิษฐ์คิดค้นวงจรไฟฟ้าใหม่ ๆ งานไฟฟ้าจึงเป็นงานช่างพื้นฐาน ที่สำคัญ เพราะปัจจุบันการดำรงชีวิตของมนุษย์เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเป็นอย่างมาก เครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านต้องอาศัยไฟฟ้าในการทำงาน งานไฟฟ้าจำแนกตามลักษณะของงานได้ 2 ประเภท ดังนี้
1. งานไฟฟ้ากำลัง เช่น งานเดินสายไฟฟ้าภายนอกและภายในอาคาร งานควบคุมเครื่องกลไฟฟ้า
2. งานอิเล็กทรอนิกส์ เช่น งานวิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น
งานเครื่องยนต์
งานเครื่องยนต์ เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความละเอียด ความแม่นยำ ทักษะและกระบวนการทางช่าง ในการใช้เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ ในการปรับแต่ง บำรุงรักษา และซ่อมเครื่องยนต์ให้มีสภาพใช้งานที่ดี ยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน มีความปลอดภัยในการใช้งาน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถจำแนกตามลักษณะงานได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. การใช้งานและการควบคุมเครื่องยนต์ เช่น การขับขี่รถยนต์
2. การบริการตรวจซ่อม ปรับแต่ง เช่น การเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุดสึกหรอหมดอายุการใช้งานปรับอัตราเร็วเดินเบาของเครื่องยนต์ ให้มีสภาพสมบูรณ์ในการใช้งานเป็นต้น
3. การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เช่น ล้างอัดฉีด เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง อัดจาระบี เป็นต้น
งานเคลือบผิวชิ้นงาน
งานเคลือบผิว เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านศิลปะ และทักษะกระบวนการในการตกแต่งผิวชิ้นงาน ซึ่งจัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างหรือผลิตชิ้นงาน ทำให้ชิ้นงาน มีความสวยงามเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ในการเคลือบผิวชิ้นงานผู้ปฏิบัติงานจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเคลือบผิวชิ้นงานของวัสดุแต่ละประเภท ซึ่งมีความแตกต่างกัน รู้จักเลือกใช้เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ชิ้นงาน ที่มีความสวยงาม คงทน และสามารถใช้สอย ได้อย่างคุ้มค่า
คุณลักษณะในการประกอบอาชีพงานช่าง
การประกอบอาชีพงานช่างให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
1. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต ช่างจดจำ สามารถนำประสบการณ์มาดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
2. มีลักษณะของช่างที่ดี คือ มีความรู้ มีกระบวนการทำงานที่ดี สามารถนำเทคโนโลยี มาปรับปรุงแก้ไข และประยุกต์ใช้ในการทำงานอยู่เสมอ มีนิสัยรักการทำงาน ทำงานด้วยความปลอดภัย
3. มีความสามารถทางช่างที่ดี ช่างทุกคนจะต้องมีความรู้เรื่องเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์เป็นอย่างดี รู้จักวิเคราะห์ขั้นตอนการทำงาน และพัฒนาทักษะกระบวนการทางช่างให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
4. เป็นผู้รอบรู้ มีความรู้ความสามารถสูงในสาขาอาชีพของตนเอง และมีความรอบรู้ในเชิงช่างทั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มีความคิดริเริ่ม ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ
5. มีไหวพริบ เมื่อเห็นชิ้นงาน สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม ต้องมีความสามารถในการพิจารณาว่าชิ้นงานนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ใช้ทฤษฎีอะไร มีความเข้าใจในกระบวนการทำงานและจดจำได้อย่างรวดเร็ว
6. มีความเชื่อมั่นในตนเอง ความกล้าที่จะตัดสินใจและมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จ เป็นคุณสมบัติที่ดีของช่าง
คุณธรรมในการประกอบอาชีพงานช่าง
การประกอบอาชีพงานช่างให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องมีคุณธรรม ดังนี้
1. มีความขยันอดทน เพื่อให้ทำงานนั้นสำเร็จ
2. มีความเพียร หมายถึง ความพยายามในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี มีความอดทน และ มีความรับผิดชอบ
3. มีบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การมีบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ประกอบอาชีพช่างทุกสาขาที่จะต้องมี เพื่อทำให้เพื่อนร่วมงานหรือบุคคล ในสังคมรักและเต็มใจทำงานด้วย ทำให้การประกอบอาชีพมีโอกาสสำเร็จมากยิ่งขึ้น
4. ความซื่อสัตย์ การประกอบอาชีพด้านช่างถือความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังสำนวนที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” ดังนั้นจึงต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน ให้ความยุติธรรมมีมาตรฐานในการทำงานให้มีคุณภาพสูง แบบเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้เป็นที่เชื่อใจของลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน
5. ความรับผิดชอบ การประกอบอาชีพช่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ยอมรับการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดในการผลิตหรือบริการด้วยความเต็มใจ มีอัธยาศัยที่เป็นมิตรไมตรีกับทุกคน
[…] แนวข้อสอบครู วิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป… แนวข้อสอบครู วิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป์ ชุดที่ 2 tags: อุตสาหกรรมศิลป์แนวข้อสอบ […]
[…] แนวข้อสอบครู วิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป… แนวข้อสอบครู วิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป์ ชุดที่ 1 พร้อมเฉลย tags: อุตสาหกรรมศิลป์แนวข้อสอบ […]