ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC)
ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) คือ การรวมตัว ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา บนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร สู่คุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความสำเร็จหรือประสิทธิพลของผู้เรียนเป็นสำคัญ และความสุขของการทำงานร่วมกันของสมาชิกในชุมชน PLC จึงเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้
วัตถุประสงค์ของ PLC
1. เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีประสิทธิภาพ
2. เพื่อให้เกิดการร่วมมือ รวมพลังของทุกฝ่ายในการพัฒนาการเรียนการสอนสู่คุณภาพของผู้เรียน
3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยการพัฒนาผู้เรียน
องค์ประกอบสำคัญของ PLC
- ต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน หมายถึง มีเป้าหมาย ทิศทางเดียวกัน มุ่งสู่การพัฒนาการเรียนการสอน สู่คุณภาพผู้เรียน
- ร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมมือ หมายถึง ต้องเปิดใจ รับฟัง เสนอวิธีการ นำสู่การปฏิบัติ และประเมินร่วมกัน
- ภาวะผู้นำร่วม หมายถึง การทำ PLC ต้องมีผู้นำและผู้ตามในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- กัลยาณมิตร หมายถึง เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพ เติมเต็มส่วนที่ขาดของแต่ละคน
- ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์การ หมายถึง ต้องเน้นการทำงานที่เปิดโอกาสการทำงานช่วยเหลือกันมากกว่าการสั่งการ มีชั่วโมงพูดคุย
- การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพ หมายถึง การเรียนรู้การปฏิบัติงานและตรงกับภาระงาน คือ การสอนสู่คุณภาพผู้เรียน
กระบวนการทำ PLC
- รวมกลุ่มครูที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น กลุ่มครูที่สอนวิชาเดียวกัน สอนในระดับเดียวกัน หรือมีลักษณะเหมือนกัน
- จำนวนสมาชิกตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป
- ระยะเวลา 2 คาบต่อสัปดาห์ ตลอดหนึ่งปีการศึกษาโดยถือเป็นภาระการสอนของครู
- สมาชิกร่วมกันอภิปรายหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในประเด็นต่าง ๆ เช่นการออกแบบการจัดการเรียนรู้
- การแก้ปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนในชั้นเรียน
- เทคนิคการจัดการชั้นเรียน
- การสร้างสื่อการเรียนรู้
- สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา
- ดำเนินงานตามแนวทางที่ร่วมกันวางแนวทางไว้
- สรุปผลการดำเนินงาน
แนวทางในการบันทึก
1. ประเด็นที่ร่วมกันอภิปราย
2. สาเหตุของปัญหา
3. การออกแบบกิจกรรม
4. แนวทางการปฏิบัติ ระบุช่วงเวลาหรือวันที่ปฏิบัติ
5. การสะท้อนผลการปฏิบัติ