วันอังคาร, 5 ธันวาคม 2566

รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ชุด Enjoy with Grammar

ดาวน์โหลดไฟล์ : รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ชุด Enjoy with Grammar

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นอันมาก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร  ความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ตลอดทั้งความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อคมนาคม ทำให้ประเทศต่างๆมีความใกล้ชิดกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้นจึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการติดต่อด้านต่างๆ  ภาษาอังกฤษนับว่าเป็นภาษาต่างประเทศที่สำคัญและแพร่หลายที่สุด  อาจกล่าวได้ว่าแทบทุกประเทศในโลกใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ  สำหรับประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ใน พ.ศ. 2558  หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของอาเซียน อ้างถึง (http://th.wikipedia.org/wiki/วิกิพีเดีย.  2554) ภาษาอังกฤษ จึงเป็นภาษาที่จำเป็นในการศึกษา (สุมิตรา  อังวัฒนกุล.  2539 : 1) ภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาสังคมไทย คนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีจะมีโอกาสดีในสังคม (กรมวิชาการ.  2545  : 1) นอกจากนี้ภาษาอังกฤษถูกเลือกเป็นภาษาต่างประเทศที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและถือว่าเป็นภาษาสากล  สถานศึกษาจึงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  เพื่อให้คนไทยมีความสามารถ ในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับมาตรฐาน   สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร  การค้าขาย  การเมือง  การทหาร การศึกษาและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ฯลฯ และใช้ประโยชน์จากสารสนเทศที่มีอยู่อย่างมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถที่จะแข่งขันกับนานาอารยประเทศ   รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ทั้งภายในและนอกประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม  การเมือง  และอุตสาหกรรม  สามารถดำรงเอกลักษณ์ความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล ในชีวิตประจำวันของคนไทย อาจมีความสัมพันธ์กับภาษาอังกฤษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ การงานและสังคมของคน    ผู้นั้น    คนไทยแม้มีอาชีพที่ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับภาษาอังกฤษก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ  เช่น ป้ายชื่อร้าน ป้ายโฆษณา สินค้าต่างๆ มักจะมีฉลากแสดงแหล่งผลิตเครื่องหมายการค้า หรือวิธีใช้เป็นภาษาอังกฤษกำกับอยู่ด้วย นอกจากนี้คนไทยยังรับเอา คำภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก และบางคำก็ใช้เสมือนว่าเป็นคำภาษาไทย เช่น ทีวี  แซนด์วิช โซฟา ฯลฯ  คำเหล่านี้เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยแล้ว ผู้ฟังก็เข้าใจ  นอกจากนี้ยังอาจพบคำภาษาอังกฤษปะปนอยู่ในเพลงภาพยนตร์  สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยเหตุที่ภาษาอังกฤษเข้ามาพร้อมกับความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรมและสินค้าต่างๆ (สุดาพร  ลักษณียนาวิน.  2540  :  56) รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาในการพัฒนาความสารมารถทางทักษะภาษาอังกฤษของคนในชาติ  และมีความพยายามจะปรับปรุงให้มีการสอนภาษาอังกฤษตลอดมาเริ่มจากระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาเพื่อจะได้พัฒนาให้ผู้เรียนได้มีสมรรถนะทางภาษาในระดับที่สามารถติดต่อสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ สามารถที่จะมีความรู้ความเข้าใจในสารสนเทศ    ต่าง ๆ ที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี สามารถเลือกสารสนเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ความคิดของตนได้ (วิชาการและมาตรฐานการศึกษา.  2551 : 2) ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษา   ขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551  ได้กำหนดสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศไว้ 4 สาระ  คือ ภาษาเพื่อการสื่อสาร  ภาษาและวัฒนาธรรม  ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น  และภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก  มุ่งหวังให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ  สามารถใช้ภาษาต่างประเทศสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ  แสวงหาความรู้  ประกอบอาชีพ  และศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น  รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาคมโลก  และสามารถถ่ายทอดความคิดและวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์ 

                 จากความสำคัญของภาษาอังกฤษข้างต้น  กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุง  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ให้มีเนื้อหาที่มีความทันสมัยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม  เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถในการเข้าสู่สังคมและวัฒนธรรมและการใช้ภาษาในการสื่อสารความอย่างถูกต้อง  ในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร  ครูผู้สอนจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการวางพื้นฐานทางภาษาให้ดี  ครูผู้สอนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาค้นคว้าหลักสูตร ตลอดจนเอกสารต่าง ๆ เพื่อจัดทำนวัตกรรม ทางการศึกษาใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามสาระการเรียนรู้ที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  เพื่อเป็นการสร้างทักษะพื้นฐานทางภาษาให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน  และในกระบวนการจัดการเรียนรู้  พบว่าสื่อการจัดการเรียนรู้มีประโยชน์ต่อผู้เรียนและผู้สอน  เพราะสื่อคือศูนย์รวมความสนในของผู้เรียนช่วยให้บรรยากาศของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สนุกสนานมีชีวิตชีวา  นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะติดตามบทเรียน  ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียน    ได้เร็วขึ้น  ถูกต้องและยำได้แม่นยำยิ่งขึ้น (มัทนา  ทองใหญ่.  2539  :  13) ซึ่งผู้สอนจำเป็นต้องพัฒนาตนเอง ค้นคว้าหาความรู้ และต้องมีความรู้การใช้สื่อและผลิตสื่อมาใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุด (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.  2542.  2542 : 12)  

                 ปัญหาการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในประเทศไทยที่ผ่านมา  พบว่ายังไม่ประสบผล สำเร็จ  ทิพย์วัลย์  มาแสง (2532 : 27) และ พัชรพิมล  บุญรมย์ (2538 : 25) สรุปว่า  เพราะนักเรียนขาดความสนใจและแรงจูงใจในการเรียน  ไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ในการเรียนภาษาอังกฤษ  ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน  ทำให้เกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อภาษาอังกฤษ  ในด้านผู้สอน  ปานตา  ใช้เทียมวงศ์ (2537 : 21-23) สรุปว่า  ครูขาดความมั่นใจในการสอน  เพราะไม่เข้าใจวิธีการสอนและจุดประสงค์การเรียนรู้ในภาษาอังกฤษทำให้การสอนไม่มีประสิทธิภาพ

                 ในปีการศึกษา  2559  โรงเรียนเซกา มีปัญหาในการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด  ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศกำหนดไว้ร้อยละ 80  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  มีผลสัมฤทธิ์ทาง     การเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ร้อยละ 74.12  ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด  เมื่อประเมินด้านคุณภาพของผู้เรียนพบว่า  นักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจทักษะพื้นฐานทางไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ  แม้แต่ทักษะพื้นฐานง่ายๆที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  ต้องรู้  สะท้อนให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศยังไม่บรรลุผล  จึงจำเป็นต้องศึกษาและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยการนำสื่อหรือนวัตกรรมที่ครูสร้างหรือผลิตขึ้นมาใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนรู้  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (โรงเรียนเซกา 2559 : 86) 

                 แบบฝึกทักษะไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ  เป็นสื่อที่ผู้สอนสามารถสร้างหรือพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้ประสบผลสำเสร็จตามจุดประสงค์การเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้  และเป็นสื่อหรือเครื่องมือให้ผู้สอนนำมาใช้อย่างมั่นใจ  เพราะสร้างขึ้นตามสาระของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551  ซึ่งผู้รายงานเป็นครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  ได้สร้างแบบฝึกทักษะภาษาอังกฤษพื้นฐาน  สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ผู้รายงานได้บันทึกสภาพปัญหาที่พบและเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาไว้ในบันทึกผลหลังสอนว่า ควรที่จะทำศึกษาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียน  เพื่อให้สามารถเรียนรู้และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จากสภาพปัญหาที่พบ ผู้รายงานจึงได้ศึกษารูปแบบวิธีสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะภาษาอังกฤษ เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องได้รับการฝึกฝนทักษะต่างๆ บ่อยๆ  จึงจะสามารถจดจำและเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

จากหลักการแนวคิดและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้รายงานจึงได้จัดทำแบบฝึกทักษะไวยากรณ์ภาษาอังกฤษขึ้นมา เพื่อมาใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ชุด Enjoy with Grammar กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเซกา  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 21 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะภาษาอังกฤษ  ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อผู้เรียนอย่างแท้จริงต่อไป

ให้คะแนนบทความนี้
[รวม: 0 เฉลี่ย: 0]

สมาชิกแสดงความคิดเห็น