วินัยและการรักษาวินัย

วินัยและการรักษาวินัย

ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                        เดิมที่ ข้าราชการครูได้อนุโลมใช้ข้อกำหนดด้านวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จนกระทั่ง พ.ศ.2540 ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540                    ซึ่งกำหนดให้ให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ จึงบังเกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 อันเป็นแม่บทที่ทำให้ต้องมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว 3 ฉบับ แต่ในหมวดที่ 6 ว่าด้วยเรื่องวินัยและการรักษาวินัย ไม่ถูกแก้ไขไปด้วย ยังคงเนื้อหาสาระเดิม

                        วินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หมายถึง ข้อกำหนดพฤติกรรมสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในการปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ข้อบังคับที่กำหนด เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของทางราชการอย่าง     มีประสิทธิภาพ

                        วินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีความสำคัญเป็นอันมากในการบริหารงานด้านการศึกษา เพราะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความใกล้ชิดกับผู้เรียน หากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่มีวินัย จะทำให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาอย่างไม่เต็มที่ อันจะมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาติในวันหน้า

                        เมื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวินัยหรือปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องวินัยและการรักษาวินัย จะช่วยให้หน่วยงานทางการศึกษา ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการศึกษา ตัวข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเองก็มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานด้านการศึกษา มีความภาคภูมิใจในอาชีพ มีความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในที่สุดผู้เรียนก็จะได้รับการศึกษาอย่างสมบูรณ์สมเจตนารมณ์ของรัฐ

                        ข้อกำหนดในเรื่องวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มีดังนี้

                        มาตรา 82 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรักษาวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ

                        การรักษาวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้องรักษาอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่ยังรับราชการอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในเวลาราชการหรือนอกเวลาราชการ การประพฤติหรือปฏิบัติตนในบางเรื่องประชาชนทั่วไปอาจกระทำได้ แต่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่อาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ เพระวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะติดตัวอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่น นายร่าเริง บันเทิงใจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดโรงเรียนพันธุดี ในคืนวันศุกร์ ที่ 30 มกราคม 2557 หลังเลิกเรียนได้นัดเพื่อนๆสมัยที่เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยกันมาเลี้ยงฉลองปีใหม่กันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เมื่อเริ่มรับประทานอาหารเสร็จเพื่อนคนหนึ่งได้สั่งสุรามาดื่ม ในคืนนั้นนายร่าเริง บันเทิงใจและเพื่อนดื่มสุราจนเมาครองสติไม่ได้ เนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด เมื่อเหล้าเข้าปากความยากหายไป นายร่าเริง บันเทิงใจ ควบคุมสติตนเองไม่ได้ได้แทะโลมด้วยวาจาเด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งที่มานั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารกับแฟน และเดินเข้าไปกระทำอนาจารโดยการจับหน้าอกแล้วบีบ ทำให้แฟนหนุ่มไม่พอใจ ชกหน้านายร่าเริง บันเทิงใจไป 1 ครั้ง นายร่าเริง บันเทิงใจ ได้รับบาดเจ็บฟันหักหนึ่งซี่ นายร่าเริง บันเทิงใจ ได้ไปแจ้งความ            ฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายกาย

                        มาตรา 83 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยความบริสุทธิ์ใจและมีหน้าที่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองเช่นว่านั้น

                        ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นข้าราชการของรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้นข้าราชการที่ดีก็จะต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยความบริสุทธิ์ใจ นอกจากนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษายังมีหน้าที่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นว่านั้นอีกด้วย การไม่สนับสนุนหรือรางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง

                        แต่หากถึงขั้นเป็นผู้ไม่เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 ต้องออกจากราชการโดยพลัน

                        มาตรา 84 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสมอภาคและเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ และต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

                  คำว่า “หน้าที่ราชการ”หมายความเฉพาะหน้าที่ที่เป็นราชการโดยตรงเท่านั้น           หากเป็นหน้าที่อื่นที่มิใช่หน้าที่ราชการโดยตรงก็ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า“หน้าที่ราชการ”                  และการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผู้มีหน้าที่จะปฏิบัติอยู่ในสถานที่ราชการหรือนอกสถานที่ราชการก็ได้ หรืออาจจะปฏิบัติในวันหยุดหรือนอกเวลาที่กำหนดให้ปฏิบัติราชการตามปกติก็ได้

                        การพิจารณาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดมีหน้าที่ราชการเรื่องใดหรือไม่มีข้อพิจารณาดังนี้

                        1. พิจารณาจากกฎหมาย ระเบียบที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้ใดดำรงตำแหน่งใดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในเรื่องใด ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นก็มีหน้าที่ราชการในเรื่องนั้น

                  2. พิจารณาจากมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เมื่อใครดำรงตำแหน่งใดก็ย่อมมีหน้าที่ราชการตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสำหรับตำแหน่งนั้น

                        3. พิจารณาจากคำสั่งหรือการมอบหมายของผู้บังคับบัญชา แม้จะไม่มีระเบียบกฎหมายหรือมาตรฐานกำหนดตำแหน่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ไว้ แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผู้ใดทำหน้าที่หรือมอบหมายหน้าที่ใดให้ผู้ใดปฏิบัติภายในขอบอำนาจของผู้บังคับบัญชา ก็ย่อมเป็นหน้าที่ราชการของผู้ได้รับคำสั่งหรือได้รับมอบหมายนั้นที่จะต้องรับผิดชอบตามนั้น

                        4. พิจารณาจากพฤตินัยที่สมัครใจผูกพันตนเองยอมรับเป็นหน้าที่ราชการที่ตนต้องรับผิดชอบ เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการซึ่งไม่มีหน้าที่รับส่งเงินแต่ได้รับฝากเงินจากเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับส่งเงิน และการรับฝากนั้นมิใช่รับฝากในฐานะส่วนตัว แต่มีลักษณะเป็นการรับฝากเป็นทางราชการเพื่อนำเงินไปลงบัญชี โดยได้เซ็นชื่อรับได้รับเงินไปแล้ว เช่นนี้ ถือว่าเจ้าหน้าที่ธุรการผู้นั้นมีหน้าที่ราชการที่จะต้องนำเงินลงบัญชี เมื่อไม่นำเงินส่งลงบัญชีและนำเงินไปใช้ส่วนตัวเป็นทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามนัยมติของ ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 5/2520 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2520

                        นอกจากคำว่าหน้าที่ราชการแล้วในมาตรา84 วรรคแรก ยังคงมีคำที่จะต้องพิจารณาความหมายดังนี้

                        คำว่า “ซื่อสัตย์”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา                   ไม่คดโกง ไม่หลอกล่วง

                        คำว่า “สุจริต”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ปฏิบัติด้วยความมุงหมาย                   ในทางที่ชอบ

                        คำว่า “เสมอภาค”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่า เทียมกัน

                        คำว่า “เที่ยงธรรม”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ปฏิบัติด้วยความเป็นธรรม   ไม่ลำเอียง

                        คำว่า “วิริยะ อุสาหะ”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ปฏิบัติด้วยความพยายาม ความขยัน ความอดทน

                        คำว่า “ขยันหมั่นเพียร”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ปฏิบัติงานด้วยความขยันขันแข็ง ด้วยความสม่ำเสมอ พยายามจนกว่างานจะสำเร็จ

                        คำว่า “ดูแลเอาใจใส่”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ปฏิบัติด้วยความใส่ใจ ตั้งใจ

                        คำว่า “รักษาประโยชน์ของทางราชการ” มีความหมายว่า ปฏิบัติงานเพื่อรักษาสิ่งที่ให้ผลดี หรือเป็นคุณแก่ทางราชการ

                        คำว่า “ปฏิบัติตนตามมาตรฐาน” มีความหมายว่า ปฏิบัติตนมาตรฐานตำแหน่ง มาตรฐานวิทยฐานะ มาตรฐานทางวิชาการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                        คำว่า “จรรยาบรรณวิชาชีพ” มีความหมายว่าปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพ ประกอบด้วย จรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และจรรยาบรรณต่อสังคม

                        ตัวอย่างเช่น นางลำไย สาวารี ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดโรงเรียนโคกอีแร้ง ได้รับมอบหมายให้เป็นครูเวรอาหารกลางวันของโรงเรียน ในวันที่นางลำไย สาวารี ปฏิบัติหน้าที่ครูเวรจะตักอาหารเลือกแต่ของดีให้เด็กชายลำเพลิน สาวารี ซึ่งเป็นบุตรชายของตนพิเศษกว่าเด็กนักเรียนคนอื่นเป็นประจำ ทำให้นักเรียนคนบางคนไม่พอใจนำความไปบอกผู้ปกครอง และนำไปสู่การร้องเรียนในครั้งนี้ 

                        มาตรา 84 วรรคสอง ห้ามมิให้อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 84 วรรคสอง มีดังนี้

                        1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                        2. มีอำนาจหน้าที่ราชการ

                        3. อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

                        4. หาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

                        การพิจารณาว่าผู้ใดกระทำผิดตามมาตรา 84 วรรคสอง นี้หรือไม่ จะต้องพิจารณาก่อนว่าผู้นั้นมีอำนาจหน้าที่ราชการในเรื่องนั้นหรือไม่ หากมีจึงจะพิจารราต่อไปว่าผู้นั้นได้อาศัยอำนาจหน้าที่นั้น หรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่นั้นหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่

                        การอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการนั้น ไม่จำเป็นจะต้องทำโดยตรง เพียงแต่ยอมให้ผู้อื่นทำหรือแม้แต่โดยทางอ้อมก็เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว

                        มาตรา 84 วรรคสาม การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 84 วรรคสาม มีดังนี้

                        1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                        2. มีหน้าที่ราชการต้องปฏิบัติ

                        3.ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ

                        4. มีเจตนาพิเศษเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้

                        5. มีเจตนาทุจริต

                        แนวทางการพิจารณาความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการมีดังนี้

                        1. ต้องมีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติ (หน้าที่ราชการเหมือน ม. 84 วรรคแรก)

                        2. ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการไปโดยมิชอบ

                        คำว่า “ปฏิบัติหน้าที่ราชการ”หมายความว่า ได้มีการกระทำลงไปแล้ว

                        คำว่า “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ”หมายความว่า มีหน้าที่ราชการที่ผู้นั้นจะต้องปฏิบัติ แต่ผู้นั้นไม่ปฏิบัติหรืองดเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่ การที่ไม่ปฏิบัติหรืองดเว้น            ไม่กระทำการตามหน้าที่นั้น จะเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเป็นการจงใจที่จะไม่กระทำการตามหน้าที่โดยปราศจากอำนาจที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือ ข้อบังคับ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ปล่อยปละละเลย ปฏิบัติการด้วยความพลั่งเผลอ เข้าใจผิด สะเพร่า หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่มีเจตนาที่จะปล่อยปละละเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่จะเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ส่วนจะเป็นความผิดฐานใดจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป

                        การที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ที่จะเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเท่านั้น

                        คำว่า “มิชอบ”หมายความว่า ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี แบบธรรมเนียมของทางราชการ หรือทำนองคลองธรรม แยกพิจารณาได้ดังนี้

                        1) มิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี คือ ปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือ                       มติคณะรัฐมนตรี หรือ ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี

                        2) มิชอบด้วยแบบธรรมเนียมของทางราชการ คือ ปฏิบัติโดยไม่เป็นไปตามแบบธรรมเนียมของทางราชการ หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามแบบธรรมเนียมของทางราชการ                    ยกตัวอย่างเช่นเร้าหน้าที่พัสดุเสนอเรื่องขออนุมัติซื้อวัสดุอุปกรณ์การศึกษาต่อผู้อำนวยการเพื่ออนุมัติโดยไม่ผ่านรองผู้อำนวยการที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามสายงาน เพราะถ้าเสนอผ่านรองผู้อำนวยการก็จะไม่ได้รับอนุมัติเพราะรองผู้อำนวยการรู้ว่าคุณภาพของสินค้าที่เสนอมาไม่มีคุณภาพและราคาแพงเกินไป ทั้งที่เจ้าหน้าที่พัสดุมีเจตนาที่จะให้ตนเองหรือร้านค้าที่จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์การศึกษาได้ ประโยชน์เป็นพิเศษ ดังนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบด้วยธรรมเนียมของทางราชการ  เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้

                        3) มิชอบด้วยทำนองคลองธรรม คือ กระทำไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร หรือไม่กระทำในทางที่ถูกที่ควร ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่การเงินมีหน้าที่วางฎีกาเบิกเงินค่าก่อสร้างอาคารเรียนให้ผู้รับเหมาหลายราย ได้ทำเรื่องวางฎีกาเบิกเงินให้ผู้รับจ้างรายที่ให้ค่าตอบแทนเป็นส่วนตัวก่อนและทำให้อย่างรวดเร็ว ส่วนผู้รับจ้างรายใดมิได้ให้ค่าตอบแทนเป็นส่วนตัวจะทำให้ช้า หน่วงเหนี่ยวเรื่องอาไว้ ดังนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้

                        ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยถูกต้องทุกประการแล้ว ต่อมาภายหลังได้ประโยชน์ส่วนตัวเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในลักษณะ “ของขวัญ หรือ กินตามน้ำ หรือ สินน้ำใจ”     จะไม่เข้าลักษณะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบตามมาตรา 84 วรรคสามนี้   แต่อาจจะเป็นความผิดตามมาตราอื่น เช่น มาตรา 94 ฐานประพฤติชั่ว เป็นต้น

                        3. มีเจตนาพิเศษเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้

                        คำว่า “ผู้อื่น”หมายถึง ใครก็ได้ที่จะได้รับประโยชน์จากการที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้นั้นปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

                        คำว่า “ประโยชน์” หมายถึง สิ่งที่ได้รับอันเป็นคุณแก่ผู้รับ ซึ่งอาจจะเป็นทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน เช่น การได้รับบริการ เป็นต้น

                        คำว่า “มิควรได้” หมายถึง ไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะได้รับประโยชน์ใดๆตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น

                        4. โดยมีเจตนาทุจริต

                        คำว่า “ทุจริต” หมายถึง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

                        ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา 84 วรรคสามนี้เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามมติคณะรัฐมนตรีโทษไล่ออกจากราชการสถานเดียว ไม่มีเหตุใดลดหย่อน            เป็นโทษปลดออกจากราชการได้

                        มาตรา 85 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานทางการศึกษา               มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลโดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน และไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 85 วรรคแรก มีดังนี้

                        1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                        2. มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติ

                        3. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตาม

                           1) กฎหมาย

                           2) ระเบียบแบบแผนของทางราชการ

                           3) ระเบียบแบบแผนของหน่วยงานการศึกษา

                        4. มติคณะรัฐมนตรี

                        5. นโยบายรัฐบาล

                        เพื่อ 1.ประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

                              2. ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

                        มาตรา 85 วรรคแรก มีเจตนารมณ์ที่จะให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน ดังนั้นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้สนับสนุนการศึกษา ปฏิบัติงานเกี่ยวการจัดการศึกษา    การเรียน การสอน การนิเทศ การบริการการศึกษา และการปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานการศึกษา จะต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่อันสำคัญที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย                ระเบียบแบบแผนของทางราช และระเบียบแบบแผนของหน่วยงานการศึกษา คำสั่งของผู้บังคับบัญชา                        มติคณะรัฐมนตรี นโยบายรัฐบาล โดยถือเอาประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนเป็นสำคัญ และต้องไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอีกด้วย

                        มาตรา 85 วรรคสอง การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล ประมาทเลินเล่อ หรือขาดการเอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ         อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 85 วรรคสอง มีดังนี้

                        1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง

                        2. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยประมาทเลินเล่อ ขาดการเอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง

                        คำว่า “จงใจ” มีความหมายเหมือนกับคำว่า “เจตนา”ในกฎหมายอาญากล่าวคือเป็นการกระทำโดยผู้กระทำรู้สำนึกในการกระทำและประสงค์ต่อผลหรือยอมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

                        คำว่า “ประมาทเลินเล่อ”หมายถึงกระทำโดยไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง หรือกระทำโดยพลั้งเผลอ หลงลืม

                        การประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการมีได้ทั้ง กระทำ หรือ ละเว้นการกระทำ เช่น  มีหน้าที่ควบคุมห้องสอบ ควบคุมห้องสอบไม่ดีจนมีผู้เข้าสอบหลอกคำตอบซึ่งกันและกัน หรือเช่น       เป็นเจ้าหน้าที่การเงินลืมนำเงินเข้าเก็บรักษาในตู้นิรภัยของหน่วยงานเป็นเหตุให้เงินสูญหาย เป็นต้น

                        ความเสียหายที่ว่าร้ายแรงนั้นจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องไป และความเสียหายไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินมีราคาหรือตีราคาได้เสมอไป อาจจะเป็นการเสียหายแก่ชื่อเสียงของทางราชการ หรือความเสียหายในด้านความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อทางราชการ ก็นับเป็นความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน

                        มาตรา 86 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเหลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการจะเสนอความเห็นความเห็นเป็นหนังสือภายในเจ็ดวัน เพื่อให้ ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้นก็ได้ และเมื่อเสนอความเห็นแล้ว  ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันเป็นหนังสือให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะต้องปฏิบัติตาม

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 86 วรรคแรก มีดังนี้

                        1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                  2. มีคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

                        3. ผู้สั่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย

                        4. สั่งในหน้าที่ราชการ

                        5. เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ

                        6. มีเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น

                        ผู้บังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ สังกัดสถานศึกษา คือ     ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รัฐมนตรีว่าการกรทรวงศึกษาธิการ นายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษา คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รัฐมนตรีว่าการกรทรวงศึกษาธิการ นายกรัฐมนตรี เป็นต้น

                        คำว่า “สั่งในหน้าที่ราชการ”มีองค์ประกอบ 2 ประการ

                        1) ผู้สั่งมีหน้าที่ราชการในเรื่องที่สั่งนั้น

                        2) สั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ

                        คำว่า “เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ”หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาอยู่ในฐานะที่จะสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำการได้ตาม กฎหมายและระเบียบของทางราชการ และสั่งภายในขอบอำนาจหน้าที่ของตน

                        ในกรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของ ผู้บังคับบัญชาจะทำให้เสียหายแก่ทางราชการหรือจะเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ ให้เสนอความเห็นเป็นหนังสือภายใน 7 วัน เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้น ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันเป็นหนังสือให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น

                        ในการเสนอความเห็นให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่ง จะต้องมีเนื้อหาประกอบด้วย

                        1) คำสั่งสั่งขัดต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการอย่างไร และหากปฏิบัติตามคำสั่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างไร

                        2) หรือ การปฏิบัติตามคำสั่งจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการอย่างไร

                        การเสนอความเห็นให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งจะอ้างเหตุผลส่วนตัวไม่ได้ เช่น ขาดความถนัด ไม่เคยทำงานนั้นมาก่อน หรือทำงานนั้นไม่เป็น อย่างนี้เป็นต้น มิฉะนั้นแล้วงานของทางราชการอาจจะเสียหายได้

                        มาตรา 86 วรรคสอง การขัดคำสั่งหรือหลีกเหลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ        อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 86 วรรคสอง เหมือนกับองค์ประกอบของความผิดในมาตรา 86 วรรคแรก ที่กล่าวมาแล้ว แต่จะพิจารณาว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ดูผลกระทบที่เกิดกับทางราชการเป็นสำคัญ ถ้าทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง  เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าทางราชการเสียหายไม่ร้ายแรง ก็เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง

                        ความเสียหายที่ว่าร้ายแรงนั้นจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องไป และความเสียหายไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินมีราคาหรือตีราคาได้เสมอไป อาจจะเป็นการเสียหายแก่ชื่อเสียงของทางราชการ หรือความเสียหายในด้านความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อทางราชการ ก็นับเป็นความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน

                        มาตรา 87 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียน จะทอดทิ้งหรือละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผล   อันสมควรมิได้

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 87 วรรคแรก มีดังนี้

                        1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                        2. มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติ

                        3. ต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียน จะทอดทิ้งหรือ ละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรไม่ได้

                        คำว่า “อุทิศ” ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า สละให้

                        คำว่า “เวลาของตน”หมายความว่า เวลานอกเหนือจากเวลาที่ต้องปฏิบัติราชการตามปกติ เช่น เวลาหยุดพัก เวลาหลังเลิกงาน วันหยุดราชการ เป็นต้น

                        คำว่า “ทอดทิ้ง” หมายความว่า ตัวอยู่แต่ไม่ทำงาน เช่น มาลงชื่อปฏิบัติงานแล้วยังอยู่ในบริเวณที่ทำงานแต่ไม่สนใจเอาเป็นธุระ ใช้เวลานั้นทุ่มเททำงานในหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย หรือเสร็จไปตามควรจะทำ ปล่อยให้งานคั่งคาง เป็นต้น

                        คำว่า “ละทิ้ง” หมายความว่า ไม่อยู่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ซึ่งอาจจะไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการเลย หรือมาลงชื่อปฏิบัติราชการแล้วแต่ไม่อยู่ที่โต๊ะทำงานหรือจุดที่กำหนดให้ปฏิบัติงานกลับละทิ้งหน้าที่ออกไปที่อื่นเสีย ซึ่งอาจไปนอกสำนักงานหรือเพียงไปที่ห้องอื่นหรือจุดอื่นนอกจุดที่กำหนดให้อยู่ประจำทำงานก็ได้

                        กรณีจะเป็นการทอดทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการตามมาตรา 87 วรรคแรกนี้จะต้องพิจารณาด้วยว่าผู้นั้นจะต้องมีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติด้วย

                        ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดที่ผู้บังคับบัญชามิได้มอบหมายหน้าที่ราชการให้หรือยังมิได้มอบหน้าที่ราชการให้ถือว่ายังไม่มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏัติ แต่ก็มีหน้าที่ราชการที่จะต้องอยู่รอเพื่อผู้บังคับบัญชามอบหมายหน้าที่ราชการให้ ถ้าไม่อยู่รอเพราะเห็นว่าตนเองไม่มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติก็มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน

                        มาตรา 87 วรรคสอง การละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 87 วรรคสอง มีดังนี้

                        1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                        2. ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ

                        กรณีแรก ไม่นับว่าจะละทิ้งหรือทอดทิ้งเป็นเวลาเท่าไร แม้เพียงชั่งโมงเดียวถ้าการ  ละทิ้งหรือทอดทิ้งนั้นเป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรงก็เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เช่น  ละทิ้งหน้าที่เวรยามรักษาการณ์สถานที่ราชการไปชั่งโมงเดียวเป็นเหตุให้มีผู้มาวางเพลิงเผาสถานที่ ราชการเป็นเหตุให้อาคารเสียหายทั้งหลัง  แต่ถ้ามีเหตุผลอันสมควรก็ไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เช่น ที่ละทิ้งหน้าที่เวรยามรักษาการณ์สถานที่ราชการไปชั่งโมงนั้นเพราะเจ็บป่วยมากในทันทีทันใด ซึ่งต้องรีบไปหาแพทย์ทันที่ถ้าไม่ไปหาแพทย์อาจอันตรายถึงชีวิตได้ 

                        กรณีหลัง ถือเอาจำนวนวันที่ละทิ้งเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าราชการจะเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ การนับวันละทิ้งเกินกว่าสิบห้าวันให้นับติดต่อกันและนับวันหยุดด้วย ถ้าไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ        ก็เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และโทษทางวินัยคือไล่ออกสถานเดียว แต่ถ้ามีเหตุผลอันสมควรหรือไม่พฤติการณ์ที่แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ก็ไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรานี้ เช่น ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเจ็บป่วยมากไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ 16 วัน โดยไม่ยืนใบลาหรือแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบและเมื่อมาปฏิบัติหน้าที่ราชการในวันแรกได้ยื่นใบลาป่วยต่อผู้มีอำนาจอนุญาตการลา เช่นนี้ การละทิ้งหน้าที่ราชการนั้นก็ยังไม่ถือว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น แต่ถ้าไม่ยืนใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็อาจเป็นความผิดฐานไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบแผนของทางราชการได้

                        มาตรา 88 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม มีความสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้เรียนและระหว่างข้าราชการด้วยกัน หรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ ต้อนรับ ให้ความสะดวก              ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ

                  องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 88 วรรคแรก มีดังนี้

                        1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                        2. ประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม มีความสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้เรียน และระหว่างข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ ต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ

                        1. ข้อกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาปฏิบัติต่อผู้เรียน

                            ก. ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน

                            ข. มีความสุภาพเรียบร้อยต่อผู้เรียน

                            ค. ให้การต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมต่อผู้เรียน

            คำว่า “สุภาพเรียบร้อย” หมายถึงการแสดงออกทางกิริยาท่าทางหรือวาจาในลักษณะอ่อนโยน ละมุนละม่อม รวมทั้งใช้กิริยาวาจาที่ไม่หยาบคายและเหมาะสมแก่สถานที่ที่ด้วย

            2. ข้อกำหนดที่ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาปฏิบัติต่อข้าราชการด้วยกัน หรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ มีดังนี้

                ก. มีความสุภาพเรียบร้อยต่อข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ

                ข. รักษาความสามัคคีต่อข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ

                ค. ช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ

            3. ข้อกำหนดที่ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาปฏิบัติต่อประชาชน มีดังนี้

                ก. ต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชน และสังคม

                ข. ต้องมีความสุภาพเรียบร้อยต่อประชาชนผู้มาติดต่อราชการ

                ค. ต้องให้การต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรม ต่อประชาชนผู้มาติดต่อราชการ

            มาตรา 88 วรรคสอง การกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงผู้เรียนหรือประชาชนผู้มาติดต่อราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

            องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 88 วรรคสอง มีดังนี้

  1. กระทำในฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. กระทำโดยมีเจตนา

     2.1 กลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงผู้เรียนอย่างร้ายแรง

               2.2 กลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อราชการ             

                    อย่างร้ายแรง

            คำว่า “กลั่นแกล้ง”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า หาความไม่ดีมาใส่ให้ หาอุบายให้ร้ายด้วยวิธีการต่างๆ แกล้งใส่ความ

            คำว่า “ดูหมิ่น”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นหรือแสดงกิริยาอาการดูถูกหรือรังเกียจ

            คำว่า “กดขี่” ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ข่มให้อยู่ในอำนาจของตน ใช้อำนาจบังคับเอา แสดงอำนาจเอา

            คำว่า “ข่มเหง”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ใช้กำลังรังแก แกล้งทำความเดือดร้อนให้

            มาตรา 89 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่กลั่นแกล้ง กล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริง

คำว่า “กลั่นแกล้ง”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า หาความไม่ดีมาใส่ให้ หาอุบายให้ร้าย

ด้วยวิธีการต่างๆ แกล้งใส่ความ         คำว่า “ผู้อื่น”มีความหมายว่าทุกคนที่มิใช่ตัวเอง

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 89 วรรคแรก มีดังนี้

  1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. กลั่นแกล้ง กล่าวหา หรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริง

มาตรา 89 วรรคสอง การกระทำตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

อย่างร้ายแรง เป้นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 89 วรรคสอง มีดังนี้

  1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. กลั่นแกล้ง กล่าวหา หรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริง
  3. เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายร้ายแรง

คำว่า “ผู้อื่น”มีความหมายว่าทุกคนที่มิใช่ตัวเอง

คำว่า “เสียหาย”หมายความว่าเสียหายทางใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงเกียติยศ ตำแหน่ง  

หน้าที่การงาน หรือทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น

            คำว่า “อย่างร้ายแรง เช่น ถูกดำเนินคดีอาญา ถูกดำเนินการทางวินัย ถูกโยกย้ายจนได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส เป็นต้น

            มาตรา 90 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่กระทำการ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนเอง

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 90 วรรคแรก มีดังนี้

  1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์
  3. อาจทำให้เสียอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่ง

หน้าที่ราชการของตนเอง (ถ้ากระทำโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตน ผิดทั้ง ม.90 และ ม. 84)

คำว่า “ประโยชน์” หมายถึงสิ่งที่ได้รับอันเป็นคุณแก่ผู้รับ ซึ่งอาจเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือ

ประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน เช่น การได้รับการบริการเป็นต้น

            คำว่า “เกียรติศักดิ์”ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ฐานะที่ได้รับการสรรเสริญ

            การที่จะพิจารณาว่าการกระทำอย่างไรเป็นการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์็ในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนเองหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงตำแหน่งหน้าที่ราชการผู้นั้นดำรงอยู่ว่าอยู่ในฐานะที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญหรือเป็นที่นับถือของประชาชน สังคมหรือทางราชการเพียงใด

            มาตรา 90 วรรคสอง การกระทำตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยมีความมุ่งหมายจะให้เป็นการซื้อขาย หรือให้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหรือวิทยฐานะใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการให้ หรือได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับการบรรจุและแต่งตั้งโดยมิชอบหรือเสื่อมเสียความเที่ยงธรรม เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

            คำว่า “โดยมิชอบ”ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ กฎ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน กระบวนการ

            คำว่า “ความเที่ยงธรรม”ปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมไม่ลำเลียง

  1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. เป็นการซื้อขาย หรือให้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหรือวิทยฐานะใดโดยมิชอบ

ด้วยกฎหมาย

  • เป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการให้หรือได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น
  • มีเจตนาพิเศษเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับการบรรจุและแต่งตั้งโดยมิชอบหรือเสื่อม

เสียความเที่ยงธรรม

            มาตรา 91 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่น หรือจ้างวาน ใช้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น การฝ่าผืนหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 91 วรรคแรก มีดังนี้

  1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ
  3. นำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่นหรือจ้างวาน ใช้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการ
  4. มีเจตนาพิเศษเพื่อนำไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง

การเลื่อนวิทยฐานะ หรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น

            มาตรา 91 วรรคสอง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ร่วมดำเนินการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือรับจัดทำผลงานทางวิชาการไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานทางวิชาการนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง             เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 91 วรรคสอง มีดังนี้

  1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. ร่วมดำเนินการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยมิชอบ
  3. รับจัดทำผลงานทางวิชาการไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่
  4. มีเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการเสนอขอปรับปรุงการ

กำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น

            มาตรา 92 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 92 มีดังนี้

  1. เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึง

กันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

            มาตรา 93 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยต้อง               ไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนแสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคล               กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด

         การวางตัวเป็นกลางทางการเมืองนั้น เฉาะแต่ในการปฏิบัติราชการและในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการจะอำนวยประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองใดเป็นพิเศษกว่าพรรคการเมืองอื่น หรือว่าบุคคลทั่วไปมิได้ หรือจะชักชวนให้ประชาชนสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ ส่วนในทางส่วนตัวจะนิยมหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดได้ คงห้ามแต่การเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองเท่านั้น

            มาตรา 93 วรรคสอง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการทุจริตโดยการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งอื่นที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริม           การปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งจะต้องไม่ให้การส่งเสริม สนับสนุน หรือชักจูงให้ผู้อื่นกระทำการในลักษณะเดียวกัน การดำเนินการที่ฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้เป็นความผิดวินัย              อย่างร้ายแรง    

         มาตรา 94 วรรคแรก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสียโดยไม่กระทำการใดๆอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว

         คำว่า “ประพฤติชั่ว”หมายความว่าการกระทำที่ไม่ดี จงใจฝ่าฝืนศีลธรรมหรือจารีตประเพณี มีองค์ประกอบดังนี้

  1. เกียรติของข้าราชการ พิจารณาตำแหน่งหน้าที่ราชการของผู้กระทำประกอบกับ

พฤติการณ์ในการกระทำของข้าราชการผู้นั้น

  • ความรู้สึกของสังคม พิจารณาจากความรู้สึกของประชาชนทั่วไปหรือข้าราชการว่ามี

ความรังเกียจต่อการกระทำนั้นๆโดยรู้สึกว่าเป็นการประพฤติชั่วเพียงใดหรือไม่

  • เจตนาที่การกระทำ พิจารณาว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในเรื่องที่กระทำหรือไม่

เพียงใด

            มาตรา 94 วรรคสอง การกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรืคุกโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษหนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

         คำว่า “ความผิดอาญา” หมายความว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

            คำว่า “ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด” หมายความว่าได้โทษจำคุกจริงๆและต้องเป็นโทษที่ถึงที่สุดแล้ว หากมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ยังไมถือว่าคดีถึงที่สุด หรือหากศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน หรืศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่ให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นโทษสถานอื่นที่เบากว่าโทษจำคุก ยังไม่ถือว่าได้รับโทษจำคุก

            ถ้าหากได้รับโทษจำคุกจริงในคดีที่ความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ  (ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 3 มี 32 มาตรา ตั้งแต่ มาตรา 367 – มาตรา 398)

            มาตรา 94 วรรคสาม ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสพยาเสพติด หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นเสพยาเสพติด เล่นการพนันเป็นอาจิณ หรือกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ          ต่อผู้เรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ เป็นความผิดวินัย          อย่างร้ายแรง  

            การเสพยาเสพติดหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นเสพยาเสพติด นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดตามมาตรานี้แล้ว ยังเป็นความผิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. 2542 อีกด้วย ซึ่งระเบียบนี้มีมาตรการการดำเนินการทางวินัยอย่างเข้มงวด ครอบคลุมไปถึงผู้บังคับบัญชาที่ละเลยไม่ดำเนินการสืบสวน หรือดำเนินการทางวินัยกรณีมีการร้องเรียนกล่าวหาหรือกรณีเป็นที่สงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยให้ถือว่าผู้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยด้วย นอกจากนี้หากมีกรณีมีมูลว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไปเกี่ยวข้องยาเสพติดผู้บังคับบัญชาต้องสักพักราชการและจะต้องลงโทษสถานหนักด้วย

            มาตรา 95 วรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย ป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคบบัญชากระทำผิดวินัย และดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย

         มาตรา 95 วรรคสอง การเสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย ให้กระทำโดยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี การฝึกอบรม การสร้างขวัญและกำลังใจ การจูงใจ หรือการอื่นใดในอันที่จะเสริมสร้างและพัฒนาเจตคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปในทางที่มีวินัย

         มาตรา 95 วรรคสาม การป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ให้กระทำโดยการเอาใจใส่ สังเกตการณ์และขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัย ในเรื่องอันอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการป้องกันตามควรแก่กรณีได้

         มาตรา 95 วรรคสี่ เมื่อปรากฏกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้วให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที

         มาตรา 95 วรรคห้า เมื่อมีกรณีการกล่าวหาโดยปรากฏตัวผู้กล่าวหาหรือกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัยโดยไม่มีพยานหลักฐาน ให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาผู้นั้นกระทำผิดหรือไม่               ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยจึงจะยุติเรื่องได้ ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยก็ให้ดำเนินการทางวินัยทันที

         มาตรา 95 วรรคหก การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 7

         มาตรา 95 วรรคเจ็ด ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้และหมวด 7 หรือมีพฤติกรรมปกป้อง ช่วยเหลือเพื่อมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกลงโทษทางวินัย หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย

            ในมาตรา 95 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาในเรื่องวินัยไว้ดังนี้

  1. เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย
  2. ป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย
  3. ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่า    กระทำผิดวินัย
    1. วิธีการเสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย มีดังนี้
  4. ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
  5. ดำเนินการฝึกอบรม ให้ความรู้ผู้ใต้บังคับบัญชา
  6. สร้างขวัญและกำลังให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย
  7. จูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย
  8. ดำเนินการอื่นใดในอันที่จะเสริมสร้างและพัฒนาเจตนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปในทางที่มีวินัย
    1. วิธีป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย มีดังนี้
  9. เอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดวินัย
  10. ขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัย

เมื่อปรากฏมีมูลว่าผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย โดยมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้ว          

ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที

            เมื่อมีการกล่าวหาโดยปรากฏตัวผู้กล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่น่าสงสัยว่าผู้ใต้บังคับบัญชาผู้ใดกระทำผิดวินัยแต่ไม่มีพยานหลักฐาน ให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีกรณีที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่มีมูลความจริงให้ยุติเรื่อง ถ้าเห็นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที่ แต่หากการดำเนินการทางวินัยนั้นผู้บังคับบัญชาเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของตนให้รายงานผู้บังคับบัญชาที่เหนือขึ้นไปทันที่เช่นกัน

            หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 95 โดยไม่สุจริต หรือมีพฤติกรรมปกป้อง เข้าร่วมด้วยช่วยเหลือเพื่อมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกดำเนินการทางวินัยหรือถูกลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ระดับโทษมีแค่ปลดออกจากราชการและไล่ออกจากราชการเท่านั้น ขอได้โปรดพึงระวังด้วยนะครับ

ชุดข้าราชการ หญิงแขนสั้น
ชุดกากี
สั่งซื้อได้เลยจาก Shopee

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *