นวัตกรรมการศึกษา หมายถึง ความคิดและวิธีการปฏิบัติใหม่ๆที่ส่งเสริมให้กระบวนการทางการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและดียิ่ง เกิดแรงจูงใจในการเรียน สนใจการเรียนมากขึ้นและช่วยประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วย สื่อหลายมิติ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
ดร. ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้ให้หลักเกณฑ์การพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นนวัตกรรมไว้ 4 ประการ คือ
1. นวัตกรรมจะต้องเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด หรือบางส่วนอาจเป็นของเก่าที่ใช้ไม่ได้ผลในอดีตแต่นำมาปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น
2. มีการนำวิธีการจัดระบบมาใช้ โดยพิจารณาองค์ประกอบทั้งส่วนข้อมูลที่นำเข้าไปในกระบวนการและผลลัพธ์ โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินการให้เหมาะสมก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลง
3. มีการพิสูจน์ด้วยการวิจัยหรืออยู่ระหว่างการวิจัยว่าสิ่งใหม่ นั้นจะช่วยแก้ปัญหาและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม
4. ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบันหาก สิง่ใหม่ นั้นได้รับการเผยแพร่และยอมรับ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานที่ดำเนินอยู่ในขณะนั้นไม่ถือว่าสิ่งใหม่นั้นเป็น นวัตกรรมแต่จะเปลี่ยนสภาพเป็นเทคโนโลยีอย่างเต็มที่
แนวคิดที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม
1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. ความพร้อม
3. เวลาที่ใช้ในการศึกษา
4. การขยายตัวด้านวิชาการและอัตราการเพิ่มของประชากร
ประเภทของนวัตกรรมการศึกษา
1. นวัตกรรมด้านระบบการศึกษา เช่น การสอนทางไกล การศึกษารายบุคคล
2. นวัตกรรมด้านหลักสูตร เช่น หลักสูตรแบบบูรณาการ หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน
3. นวัตกรรมด้านการเรียนการสอน เช่น ชุดการสอน โปรแกรมการสอน การเรียนด้วยตนเอง
4. นวัตกรรมด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีทางการศึกษา เช่น วีดีทัศน์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนออนไลน์
5. นวัตกรรมด้านการประเมิน เช่น การวัดผลแบบอิงกลุ่ม อิงเกณฑ์ การวิเคราะห์ข้อสอบ
6. นวัตกรรมด้านการบริหารการศึกษา เช่น การใช้ทฤษฏีบริหารจัดการ การใช้คอมพิวเตอร์เก็บข้อมูล