ชื่อผลงาน : รายงานการประเมินโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์
อำเภอพระนครศรีอยุธยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
พระนครศรีอยุธยา เขต 1
ชื่อผู้ประเมิน : นางวริยาพัชร วรภัสร์สรกุล
ปีการศึกษา : 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมิน 1) ด้านบริบท เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการ 2) ด้านปัจจัยนำเข้า เกี่ยวกับความเหมาะสมของหลักสูตรและความเหมาะสมของของบุคลากร 3) ด้านกระบวนการ เกี่ยวกับกิจกรรมที่ดำเนินการและการนิเทศ ติดตามโครงการ 4) ด้านผลผลิต เกี่ยวกับทักษะ 4 H (Head Hand Heart Health) ทักษะในศตวรรษที่ 21 ร้อยละของนักเรียนที่ศึกษาต่อ ร้อยละของนักเรียนที่ประกอบอาชีพเสริมหรืออาชีพอิสระ ความพึงพอใจของนักเรียน ความพึงพอใจของผู้ปกครอง ความพึงพอใจ ของบุคลากรหน่วยงานทางการศึกษา ความพึงพอใจของบุคลากรในสถานประกอบการ ความพึงพอใจของผู้บริโภค ความพึงพอใจของครูและคณะกรรมสถานศึกษานพื้นฐาน โดยใช้รูปแบบการประเมิน (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ คือ นักเรียนโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 110 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 18 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่นับรวมผู้อำนวยการสถานศึกษาและตัวแทนครูผู้สอน) ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 110 คน บุคลากรสถานประกอบการศูนย์อุตสาหกรรมไฮเทค อยุธยา จำกัด จำนวน 20 คน บุคลากรหน่วยงานทางการศึกษา (วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัย สารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา) จำนวน 20 คน ผู้บริโภค จำนวน 20 คน รวม จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 305 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้มี ทั้งสิ้น จำนวน 14 ฉบับ ประกอบด้วยแบบสอบถาม จำนวน 10 ฉบับ แบบสัมภาษณ์ จำนวน 2 ฉบับ แบบบันทึก จำนวน 2 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (µ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ơ) สถิติที่ใช้หาค่าความตรงของเครื่องมือ ใช้สูตร IOC หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม โดยใช้สูตรการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า α ของคอนบาร์ค ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินโครงการ ในภาพรวมพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ได้คะแนนรวม 87.00 คะแนน ซึ่งประเด็นการประเมิน ทั้ง 4 ด้าน ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ โดยประเด็นด้านบริบท (context Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) และด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ดังนี้
- ด้านบริบท (Context Evaluation) พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก ได้คะแนน รวม 9.00 คะแนน เมื่อพิจารณาตามตัวชี้วัด ทั้ง 2 ตัวชี้วัด มีดังนี้
1.1 ความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.50
1.2 ความเป็นไปได้ของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.47
- ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ได้คะแนน รวม 13 คะแนน เมื่อพิจารณาตามตัวชี้วัด ทั้ง 2 ตัวชี้วัด มีดังนี้
2.1 ความเหมาะสมของหลักสูตร พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.41
2.2 ความเหมาะสมของบุคลากร พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.54
- ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) พบว่า โดยภาพรวม ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ได้คะแนน รวม 15 คะแนน เมื่อพิจารณาตามตัวชี้วัด ทั้ง 2 ตัวชี้วัด มีดังนี้
3.1 ร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการ พบว่า มีการดำเนินกิจกรรม 10 กิจกรรม ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 100
3.2 ร้อยละของการติดตามโครงการ พบว่า มีการติดตามโครงการ 10 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 100 ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด
- ด้านผลผลิต (Product Evaluation) พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก ได้คะแนน รวม 50 คะแนน เมื่อพิจารณาตามตัวชี้วัด ทั้ง 10 ตัวชี้วัด มีดังนี้
4.1 ระดับทักษะ 4 H (Head Hand Heart Health) พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.23
4.2 ระดับทักษะในศตวรรษที่ 21 พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.27
4.3 ร้อยละของนักเรียนที่ศึกษาต่อ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 97.27
4.4 ร้อยละของนักเรียนที่ประกอบอาชีพเสริมหรืออาชีพอิสระ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 13.64
4.5 ระดับความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.55
4.6 ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครอง พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากมีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.42
4.7 ระดับความพึงพอใจของบุคลากรหน่วยงานทางการศึกษา พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.38
4.8 ระดับความพึงพอใจของบุคลากรในสถานประกอบการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.32
4.9 ระดับความพึงพอใจของผู้บริโภค พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.44
4.10 ระดับความพึงพอใจของครูและคณะกรรมการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.50
ข้อเสนอแนะ
การพัฒนาและเสริมสร้างทักษะให้กับนักเรียนในยุคเทคโนโลยี และโลกาภิวัตน์ จะต้องส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะด้านการเรียนรู้ มีทักษะการทำงาน ทักษะการดำรงชีวิต สามารถปรับตัวได้อย่างชาญฉลาด และที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีสุขภาวะที่ดีและเป็นพลเมืองที่มีคุณค่า ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข จึงเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องร่วมมือกันในการจัดโครงการเพื่อพัฒนาผู้เรียน จากผลการประเมินโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โรงเรียน วัดสว่างอารมณ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 พบว่า ผ่านเกณฑ์การปะเมินในระดับมากที่สุด และทุกประเด็น ทุกตัวชี้วัด ผ่านเกฑณ์การประเมินทั้งหมด จึงควรดำเนินการต่อ ผู้เกี่ยวข้องควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา เพื่อให้การดำเนินโครงการในครั้งต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
- ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์
1.1 นำผลการประเมินโครงการที่ได้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจปรับปรุง แก้ไขในด้านต่าง ๆ ที่ได้ค้นพบ โดยส่งเสริมกิจกรรมที่โรงเรียนสามารถทำได้ดีให้ดียิ่งขึ้นไป ปรับปรุงกิจกรรมที่พบว่ามีผลการประเมินในระดับต่ำ
1.2 โรงเรียนควรนำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาจัดกิจกรรมในการพัฒนากิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะ ที่ครอบคลุมหลักองค์ 4 แห่งการศึกษา ได้แก่
1) ด้านพุทธิศึกษา คือ ความรอบรู้วิชาการที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต การศึกษา
และการเรียนรู้
2) ด้านจริยศึกษา คือ การมีศีลธรรม จรรยาที่ดี มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และมีสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม
3) ด้านหัตถศึกษา คือ ความรู้และทักษะในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติ
ที่ดีต่องาน และเห็นคุณค่าของการทำงาน
4) ด้านพลศึกษา คือ การมีสุขภาพแข็งแรงการกินอาหารที่ถูกต้อง และการออกกำลังกายให้เหมาะสมรวมทั้งความสะอาดและสุขาภิบาลด้วย
1.3 เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น ให้เวลาในการซักถามเมื่อเกิดข้อสงสัย เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เสนอความต้องการในการทำสิ่งใหม่ ๆ ตามความสนใจ ตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนได้สะท้อนความรู้สึกหรือมุมมองของตนเอง ตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนได้เชื่อมโยงความรู้หรือประสบการณ์เดิมกับความรู้ใหม่เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาและนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ
1.4 ควรมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังการสะท้อนผลการจัดกิจกรรมแก่ผู้เรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับสำหรับการ ต่อยอดกิจกรรมในปีการศึกษาต่อไป
1.5 ควรขยายการประสานงานระหว่างองค์กร และบุคลากร ทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการ ด้วยการทำ MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น และจัดประชุมในลักษณะเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning Community)
- ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินครั้งต่อไป
2.1 ควรศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำสารสนเทศของโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
2.2 ควรศึกษาเกี่ยวกับประเมินการจัดกิจกรรมของโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
2.3 ควรประเมินโครงการโดยการกำหนดค่าน้ำหนัก ตัวชี้วัด และเกณฑ์การตัดสินของตัวชี้วัด ในแต่ละปัจจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียด และผลของโครงการในภาพรวมมีความชัดเจนตามลำดับความสำคัญ ทำให้ได้สารสนเทศที่ครอบคลุมอันจะเป็นประโยชน์ในการประเมินโครงการต่อไป
2.4 ควรศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับประสบการณ์และทักษะจากกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่เป็นแนวทางและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงการต่อไป
2.5 การศึกษาประสิทธิภาพประสิทธิผลการจัดการความรู้ โดยลดเวลาเรียนในห้องเรียน เพื่อให้เรียนรู้จากการปฏิบัตินอกห้องเรียน