รายงานการประเมินโครงการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ่อทองวงษ์จันทร์วิทยา โดยใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) ประกอบด้วยการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบริบท (Context) เป็นการประเมินบริบทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโครงการ ความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับนโยบายความเหมาะสมของเนื้อหาสาระของโครงการ ความต้องการ และความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ 2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) เป็นการประเมินความพร้อมของปัจจัยเบื้องต้นที่ใช้ในการดำเนินงานของโครงการด้านบุคลากร อาคารสถานที่ และวัสดุ อุปกรณ์ในการดำเนินงานโครงการ 3) ด้านกระบวนการ (Process) เป็นการประเมินการปฏิบัติงานตามขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินงานของโครงการ การวางแผนการจัดกิจกรรม และการประเมินผลกิจกรรม 4) ด้านผลผลิต (Product) เป็นการประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนตามเป้าหมายของโครงการที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการ คือ ผู้บริหารและครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1-3) โรงเรียนบ่อทองวงษ์จันทร์วิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ชลบุรี ระยอง ปีการศึกษา 2564 โดยใช้วิธีการสุ่มตามเกณฑ์การกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างของ เครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970) ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 674 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้บริหารและครูผู้สอน(ไม่นับรวมผู้รายงาน) จำนวน 56 คน 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน 3) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 302 คน และ 4) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1-3) จำนวน 302 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ(%) ค่าเฉลี่ย () ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ผลการประเมินพบว่า
1) ผลการประเมินโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ่อทองวงษ์จันทร์วิทยา ปีการศึกษา 2564 ด้านบริบท มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านผลผลิต และด้านกระบวนการ ซึ่งทั้งหมดมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อรวมผลการประเมินทุกด้านแล้ว ปรากฏว่า การประเมินโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ่อทองวงษ์จันทร์วิทยา มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด
2) ด้านบริบท โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่ารายการที่มีผลการประเมินมากที่สุด คือ ความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนรายการที่มีผลการประเมินน้อยที่สุด คือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมสร้างลักษณะที่ดีด้านความประพฤติ มีระเบียบวินัย และค่านิยมที่พึงประสงค์ ให้แก่นักเรียน
3) ด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า รายการที่มีผลการประเมินมากที่สุด คือ ผู้บริหารโรงเรียนและผู้นำชุมชนให้การสนับสนุนและเป็นผู้นำโครงการ ส่วนรายการที่มีผลการประเมินน้อยที่สุด คือ จำนวนบุคลากรในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอ
4) ด้านกระบวนการ โดยภาพรวม มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า รายการที่มีผลการประเมินมากที่สุด คือ มีการสรุปรายงานผลการปฏิบัติงานในรอบปี ส่วนรายการที่มีผลการประเมินน้อยที่สุด คือ มีการจัดทำกรอบแนวคิดและกำหนด จุดพัฒนาตามสภาพปัญหาและความต้องการ
5) ด้านผลผลิต โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า รายการที่มีผลการประเมินมากที่สุด คือ ผลการดำเนินการของโครงการทำให้นักเรียนมีความรู้ และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การแต่งกาย การยิ้ม ไหว้ ทักทาย การมีจิตสาธารณะและรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ส่วนรายการที่มีผลการประเมินน้อยที่สุด คือ การใช้สื่ออุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีความเหมาะสม ได้ประโยชน์คุ้มค่าและผู้เรียนได้ใช้สื่ออุปกรณ์อย่างทั่วถึง
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โรงเรียนบ่อทองวงษ์จันทร์วิทยา
ให้คะแนนบทความนี้
[รวม: 0 เฉลี่ย: 0]