เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาการของชีวิตมนุษย์ สิ่งที่เด็กได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้ในช่วง ๖ ปีแรกของชีวิตจะมีผลต่อการวางรากฐานที่สำคัญต่อบุคลิกภาพที่
จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กปฐมวัยมีการพัฒนาช่วงอายุระหว่าง ๐ – ๖ ปี ถือว่าเป็นช่วงโอกาสทองของการเรียนรู้ ในวัยนี้สมองเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าเด็กได้รับการพัฒนาและได้รับการกระตุ้นด้วยวิธีที่ถูกต้องจะช่วยสร้างเสริมให้มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, ๒๕๔๓ : ๑๖) ทั้งนี้มีการประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาปฐมวัยที่ต้องพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหกปี ให้มีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ที่เหมาะสมกับวัย ตามความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเรียนรู้และสร้างรากฐานชีวิตให้พัฒนาเด็กปฐมวัยไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๖๐)
ทักษะทางสมอง EF หรือ Executive Functions ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำเป็นทักษะที่ทุกคนต้องใช้และมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมทักษะ EF แต่สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF คืออายุ ๓ – ๖ ปี เพราะสมองส่วนหน้าพัฒนาได้มากที่สุด การคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น คือการฝึกทักษะสมองสำคัญที่เรียกว่า
Executive Functions หรือ EFจะช่วยให้เด็กปฐมวัยเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต
การฝึกทักษะสมองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองไม่ควรละเลย (พญ.มัณฑนา ชลานันต์ : กุมารเวช โรงพยาบาล
กรุงเทพ : http://www.bangkokhospital.com) เด็กปฐมวัยที่มีทักษะสมองส่วนหน้า EF ที่แข็งแรงจะมีการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนและครูได้ดี ในการเรียนตลอดทั้งวันในโรงเรียนเด็กปฐมวัยจะมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำไปพร้อมๆ กันกับครูและเพื่อนๆ จนมีความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ ความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่การเรียนในชั้นเรียนเกิดจากความสามารถของเด็กในการเรียนรู้ร่วมกันกับผู้อื่น เป็นทักษะทางสังคมของเด็กก่อนวัยเรียนที่สามารถดูได้จากทักษะสมองส่วนหน้าของเด็กคนนั้นๆ เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้ามาดี จะมีทักษะทางสังคมดี ในขณะเดียวกันกับพฤติกรรมเชิงลบที่เป็นปัญหา เช่นไม่ยอมเรียน ไม่เข้ามามีส่วนร่วม หรือก่อกวนรังแกเพื่อนร่วมชั้น พฤติกรรมดังกล่าวไม่เพียงขัดขวางการเรียนรู้ของเด็กคนนั้นๆ ยังรบกวนเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกด้วย เด็กที่แสดงพฤติกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะมีทักษะสมองส่วนหน้า และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่ำกว่าปกติ ซึ่งครูจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุให้กับเด็ก (ปรารถนา หาญเมธี : EF พัฒนาทักษะสมอง : http://www.rlg-ef.com)
องค์ประกอบของ EF (Executive Functions)
กลุ่มทักษะพื้นฐาน
- ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) การจำข้อมูล และจัดการกับข้อมูล คิดเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม และประมวลผลเพื่อนำไปใช้งานต่อ
- การยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) หยุดคิด และไตร่ตรองก่อนทำหรือพูด พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ และรู้จักรอ
- การยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) ปรับความคิดเมื่อเงื่อนไข หรือสถานการณ์เปลี่ยนไป รู้จักคิดนอกกรอบ และเห็นวิธีการรวมทั้งโอกาสใหม่ ๆ
กลุ่มทักษะกำกับตนเอง
- การจดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention) มีสมาธิต่อเนื่อง จดจ่อในสิ่งที่ทำ
- การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) จัดการกับอารมณ์ และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม มีความมั่นคงทางอารมณ์
- การติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring) รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ทบทวนการกระทำ และสะท้อนผลการกระทำของตัวเองได้ แก้ไขเมื่อพบข้อบกพร่อง
กลุ่มทักษะการปฏิบัติ
- การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) มีความคิดริเริ่ม คิดนอกกรอบได้ ตัดสินใจลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครเตือน
- การวางแผนและจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organising) ตั้งเป้าหมาย วางแผนเป็นขั้นตอน จัดลำดับความสำคัญ ดำเนินการอย่างเป็นระบบ
- การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) มีแรงจูงใจ และความพยายามเพื่อทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ มีความมุ่งมั่น อดทนต่อความยากลำบากได้
กระบวนการศิลปะ (Process Art) หมายถึง การให้เด็กได้สำรวจทดลองใช้สื่อศิลปะต่าง ๆ อย่างเสรีโดยไม่มีแรงกดดันที่จะลอกเลียนแบบ หรือทำให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนด การเรียนรู้ด้านศิลปะจะได้ประสิทธิภาพดีจากการที่เด็ก ๆ ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่เพียงลอกเลียนแบบจากผู้อื่น แต่สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นการวาด การปั้น ระบายสี หรือประดิษฐ์ กิจกรรมศิลปะช่วยเสริมสร้างให้เด็ก ๆ ได้สร้างสรรค์ และทำให้เกิดความเข้าใจในโลกรอบตัว ผลงานจะเป็นการแสดงออกถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เด็กได้มีประสบการณ์เดิมอยู่หรือบางครั้งเป็นการแสดงความรู้สึก และบางครั้งเป็นการแสดงถึงความคิดใหม่ ๆ ของ
ตัวเด็กเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดให้เด็กได้ทำงานศิลปะ คือ ต้องเน้นที่กระบวนการไม่ใช่ผลงาน (Howard Gardner, 1983) จากการศึกษา พบว่า กิจกรรมศิลปะแบบ Process Art สามารถนำมาพัฒนาทักษะสมอง EF ได้ เนื่องจากสมองของเด็กเรียนรู้ได้ดีผ่านกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ปลูกฝังให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีความสุข ทั้งนี้พัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม เป็นด้าน ยังมีความสัมพันธ์สอดคล้องกันไปอย่างเป็นระเบียบแบบแผน ซึ่งเป็นฐานในการต่อยอดทักษะสมอง EF ของเด็กปฐมวัยให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น