วันอาทิตย์, 24 กันยายน 2566

การพัฒนาโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ปีการศึกษา ๒๕๖๔

เว็บบอร์ดหมวดหมู่: เผยแพร่ผลงานวิชาการการพัฒนาโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ปีการศึกษา ๒๕๖๔

บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อพัฒนาโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมและ ๒) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งขั้นตอนการพัฒนามี ๔ ขั้นตอน คือ ๑) การพัฒนาโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย คณะผู้บริหาร จำนวน ๕ คน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จำนวน ๙ คน หัวหน้าบุคลากร จำนวน ๑ คน คณะกรรมการผู้ปกครองเครือข่าย จำนวน ๑๓ คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานฯ จำนวน ๑๕ คน ผู้ประกอบการร้านค้า จำนวน ๑๐ คน หัวหน้างานสิ่งแวดล้อมสำนักงานเขตหนองจอก จำนวน ๑ คน ประธานสภานักเรียน จำนวน ๑ คน และหัวหน้าคณะสีนักเรียน จำนวน ๔ คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ๒) การสนทนากลุ่มเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๗ ท่าน ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ๑๐ ปีขึ้นไป เป็นผู้บริหารสถานศึกษาในบริบทที่ใกล้เคียงกัน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ๓) การดำเนินการจัดโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วม และ ๔) การศึกษาการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ประชากร คือ คณะผู้บริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการผู้ปกครองเครือข่าย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก จำนวน ๒,๙๐๙ คน กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร จำนวน ๕ คน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จำนวน ๙ คน หัวหน้าบุคลากร จำนวน ๑ คน คณะกรรมการผู้ปกครองเครือข่ายจำนวน ๑๓ คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานฯ จำนวน ๑๕ คน ผู้ประกอบการร้านค้า จำนวน ๑๐ คน หัวหน้างานสิ่งแวดล้อมสำนักงานเขตหนองจอก จำนวน ๑ คน ประธานสภานักเรียน จำนวน ๑ คน และหัวหน้าคณะสีนักเรียน จำนวน ๔ คน ใช้การสุ่มโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง และนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก จำนวน ๓๔๘ คน ใช้แนวคิดการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจากสูตรของ ทาโร ยามาเน่ (ธานินทร์ ศิลป์จารุ, ๒๕๔๙ : ๔๗) ที่ระดับความเชื่อถือเท่ากับ ๙๕% โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามระดับการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า ๕ ระดับ ตามแนวคิดของ Likert ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้วยการตรวจสอบค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาและค่าความเชื่อมั่น
 
ผลวิจัยพบว่า
๑. โครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมที่ถูกพัฒนาขึ้น มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ โดยการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมมีขั้นตอนการดำเนินงานตามวงจรคุณภาพ (PDCA) ที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วม ๔ ด้าน ได้แก่ การมีส่วนร่วมด้านการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมด้านการดำเนินการ การมีส่วนร่วมด้านการรับผลประโยชน์ และการมีส่วนร่วมด้านการประเมินผล
๒. ระดับการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาโรงเรียนปลอดขยะในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (x̄ = ๓.๘๒, S = .๖๒) เมื่อพิจารณารายด้านเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการมีส่วนร่วมด้านการดำเนินการ (x̄ = ๓.๘๗, S = .๗๐) ด้านการมีส่วนร่วมด้านการรับผลประโยชน์ (x̄ = ๓.๘๖, S = .๖๓) ด้านการมีส่วนร่วมด้านการตัดสินใจ (x̄ = ๓.๘๒, S = .๖๑) และด้านการมีส่วนร่วมด้านการดำเนินการ (x̄ = ๓.๗๔, S = .๗๙) ตามลำดับ
 
คำสำคัญ โรงเรียนปลอดขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วม

ให้คะแนนบทความนี้
[รวม: 0 เฉลี่ย: 0]