ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกระทุ่มแบน“วิเศษสมุทคุณ”
สังกัดสำนักงานเขตพื้นการศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม
ปีการศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) 2) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) และ 3) ประเมินผลผลิต (Output Evaluation) ของโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนกระทุ่มแบน“วิเศษสมุทคุณ” สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ครูจำนวน 105 คน เป็นผู้ให้ข้อมูลด้านปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Output) ของโครงการ กลุ่มที่ 2 ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1–6 ของโรงเรียนกระทุ่มแบน“วิเศษสมุทคุณ” จำนวน 1,091 คน เป็นผู้ให้ข้อมูลด้านผลผลิต (Output) ของโครงการ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถามจำนวน 4 ชุด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
สรุปผลการประเมิน
ผลการประเมินโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกระทุ่มแบน “วิเศษสมุทคุณ”
สังกัดสำนักงานเขตพื้นการศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม พบว่า
- ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือด้านวัสดุ อุปกรณ์ อาคารสถานที่ รองลงมาได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ ด้านครู บุคลากรดำเนินงาน และด้านความพอเพียงของงบประมาณและแหล่งงบประมาณ ตามลำดับ
- ด้านกระบวนการ (Process) โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ ด้านการดำเนินกิจกรรม (Do) รองลงมาได้แก่ ด้านการวางแผนการดำเนินงาน (Plan) ด้านการตรวจสอบ (Check) และด้านการปรับปรุง (Act) ตามลำดับ
- ด้านผลผลิต (Output) พบว่า
3.1 ครู มีความเห็นว่า ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็น
รายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนมีทักษะการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาได้แก่ ด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และด้านทักษะนักเรียนมีความตระหนักและเห็นคุณค่าของการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามลำดับ
3.2 นักเรียน มีความเห็นว่า ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือด้านนักเรียนมีความตระหนักและเห็นคุณค่าการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาได้แก่ ด้านนักเรียนมีทักษะการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ ด้านความรู้ความเข้าใจตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามลำดับ