๑. ความหมายของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นหลักฐานการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมตาม
มาตรา ๔๓ ของพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นผู้มีสิทธิในการประกอบวิชาชีพ
ซึ่งได้แก่ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ทั้งนี้
เป็นไปตามมาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่กำหนดให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่นทั้งของรัฐและเอกชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ยกเว้น
บุคลากรทางการศึกษาที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย การจัดการศึกษาในศูนย์การเรียน ผู้บริหารการศึกษาระดับ
เหนือเขตพื้นที่การศึกษา และวิทยากรพิเศษทางการศึกษา รวมทั้งคณาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหาร
การศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ประกอบวิชาชีพควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือแสดงด้วยวิธีการใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพ รวมทั้งสถานศึกษาที่รับผู้มิได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา จะต้องได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖
๒. ผู้ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
ผู้ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ประกอบด้วย ครู
ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ทั้งของรัฐและเอกชนที่จัดการศึกษาปฐมวัย
การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา โดยจัดในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และ
โรงเรียน รวมทั้งผู้บริหารหน่วยงานการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ทางการศึกษา ดังนี้
๒.๑ ครู ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
๒.๒ ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ผู้บริหารสถานศึกษา
๒.๓ ผู้บริหารการศึกษา ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ผู้บริหารการศึกษา
๒.๔ บุคลากรทางการศึกษาอื่น ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และใบอนุญาตประกอบ
วิชาชีพควบคุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
๓. ผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
(๑) ผู้ที่เข้ามาให้ความรู้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษาเป็นครั้งคราวในฐานะวิทยากรพิเศษทางการศึกษา
(๒) ผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนแต่ในบางครั้งต้องทำหน้าที่สอนด้วย
(๓) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมหรือผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ซึ่งทำการฝึกหัด
หรืออบรมในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
(๔) ผู้ที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย
(๕) ผู้ที่ทำหน้าที่สอนในศูนย์การเรียนตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หรือสถานที่เรียน
ที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์
สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด
(๖) คณาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาทั้งของรัฐ
และเอกชน
(๗) ผู้บริหารการศึกษาระดับเหนือเขตพื้นที่การศึกษา
(๘) บุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด (ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนด)
๔. ประเภทของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา มี ๔ ประเภท คือ
๔.๑ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หมายถึง ใบอนุญาตที่ออกให้แก่ครูซึ่งประกอบวิชาชีพหลัก
ทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน
และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งครูอยู่ก่อนแล้วตามพระราช
บัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ผู้ที่เป็นครูหรือจะประกอบวิชาชีพครูตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทาง
การศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖
๔.๒ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง ใบอนุญาตที่ออกให้แก่ผู้
บริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้ฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาภายในเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาอื่นที่จัดการศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน
๔.๓ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา หมายถึง ใบอนุญาตที่ออกให้แก่ผู้บริหาร การศึกษาซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา เช่น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการ และตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งปฏิบัติงานในตำแหน่งเทียบเท่าผู้บริหารนอกสถานศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา๔.๔ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น หมายถึง ใบอนุญาตที่ออกให้แก่บุคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริการการศึกษาให้หน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานการศึกษากำหนดตำแหน่งให้ต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
๕. อายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา กำหนดไว้ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้มีอายุใช้ได้คราวละ ๕ ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต
ที่มา : คู่มือผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา